ในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อ พ.ศ. 2505 นั้นศาลได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้ออธิปไตยของกัมพูชา แต่มีคำถามอยู่ว่าเหตุใดศาลโลกไม่ตัดสินให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ?
เพราะถ้าตัดสินทางใดทางหนึ่งให้รู้แล้วรู้รอดความขัดแย้งคงไม่ลามมาจนถึงวันนี้
บางคนอ่านจากคำพิพากษาของศาลโลกแล้ววิเคราะห์เอาเองว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องเขตแดน บางคนก็วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะกัมพูชาเพิ่งมามีคำขอให้ศาลโลกพิพากษาตัดสินในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในภายหลัง และบางคนก็สรุปเอาอย่างสั้นๆง่ายๆว่าประเทศไทยโชคดี ฯลฯ
เพื่อความกระจ่างจึงน่าจะถอดรหัสถึงการบรรยายเหตุผลหรือเบื้องหลังหาสาเหตุว่าทำไมศาลโลกไม่พิพากษาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
ประเด็นแรกคือศาลโลกไม่ตัดสินการขยายคำฟ้องจากเดิมจริงหรือไม่?
กล่าวโดยสรุปคือเริ่มแรกกัมพูชาได้ยื่นคำขอให้ศาลโลกพิพากษาเพียงแค่ 2 ข้อคือ 1.ขอให้ไทยถอนทหารออกจากตัวปราสาทและ 2. ขอให้ศาลตัดสินอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2505 กัมพูชาเพิ่มคำขอเป็น 4 ข้อ โดยให้พิพากษาเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ ขอให้ศาลโลกพิพากษา “เส้นเขตแดน”ตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ประการหนึ่ง และขอให้พิพากษาชี้ขาดว่ารัฐบาลไทยจะต้องส่งคืน สิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหังพังของอนุสาวรีย์ รูปหินทราย และเครื่องปั้นดินเผาที่ได้ถูกโยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหาร
ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2505 กัมพูชาเพิ่มคำขออีก 1 ข้อ คือ ขอให้ศาลพิพากษาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
สุดท้ายศาลโลกไม่พิพากษา “เส้นเขตแดน”ตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่กัมพูชาเพิ่มคำขอต่อศาลโลกมาตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2505 และไม่พิพากษา “แผนที่”มาตราส่วน 1:200,000 ที่กัมพูชาเพิ่มคำขอต่อศาลโลกมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2505
แต่ศาลโลกนอกจากจะพิพากษาใน 2 ประเด็นแรกเริ่มที่กัมพูชาร้องขอ (ตัวปราสาทพระวิหาร และ ให้ไทยถอนทหารออกจากตัวปราสาทพระวิหาร) ศาลโลกกลับพิพากษาเรื่องที่ว่ารัฐบาลไทยจะต้องส่งคืนโบราณวัตถุที่ถูกย้ายออกไปจากตัวปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชาด้วย ซึ่งกัมพูชาขอได้ขอต่อศาลโลก”เพิ่มเติม”เอาไว้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2505
ดังนั้นการขอให้ศาลโลกพิพากษาชี้ขาดเพิ่มเติมในภายหลังนั้น ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ศาลโลกไม่พิพากษา “แผนที่” และ “เส้นเขตแดน”ตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วศาลโลกไม่ได้พิพากษาในบางประเด็นที่กัมพูชาร้องขอเพิ่มเติม แต่ศาลโลก็ได้พิพากษาตามที่กัมพูชาร้องเพิ่มเติมในบางประเด็นเช่นกัน
แท้ที่จริงแล้วโครงสร้างการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2505 นั้นมีองค์ประกอบที่หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก ฝ่ายไทยหยิบยกประเด็นข้อได้เปรียบที่ว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ไม่ใช่ผลงานการปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เพราะถือว่าฝรั่งเศสจัดทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยที่คณะกรรมการปักปันสยามกับฝรั่งเศสไม่ได้รับรอบความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว
ประเด็นที่สอง ฝ่ายกัมพูชาหยิบยกประเด็นที่ว่าแผนที่มาตาราส่วน 1:200,000 นั้นฝ่ายไทยไม่เคยปฏิเสธ นิ่งเฉย ไทยจึงโดนกฎหมายปิดปากให้ถือว่ายอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000
ประเด็นที่สาม ฝ่ายไทยหยิบยกในประเด็นข้อเท็จจริงของผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา และยังปรากฏบันทึกของประธานคณะกรรมการปักปันฝ่ายฝรั่งเศสอีกด้วยว่า การสำรวจและปักปันสยามกับฝรั่งเศสนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และบริเวณทิวเขาดงรักนั้น สันปันน้ำคือขอบหน้าผาเห็นได้ชัดเจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากตีนภูเขาดงรัก ดังนั้นแผนที่จึงมีความผิดพลาดไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส และไม่เป็นไปตามที่ได้ตกลงปักปันกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส
ผลปรากฏว่าในประเด็นแรกศาลโลกได้ยอมรับว่าแผนที่นี้ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันสยามกับฝรั่งเศส แต่ว่าจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวจริงตามที่ฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ แต่ศาลโลกเห็นว่าไทยก็นิ่งเฉยและไม่ปฏิเสธต่อแผนที่ดังกล่าวที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามที่กัมพูชาต่อสู้เช่นกันจึงเท่ากับว่าไทยต้องยอมรับตามกฎหมายปิดปาก ศาลจึงสรุปว่าให้น้ำหนักเหตุผลประเด็นเรื่องกฎหมายปิดปากของกัมพูชามากกว่าเหตุผลของไทย
คงเหลือประเด็นที่สามซึ่งฝ่ายไทยได้ต่อสู้เรื่องสันปันน้ำที่แท้จริงตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ตามหลักวิทยาศาสตร์ และตามผลงานการสำรวจและปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่ปรากฏในบันทึกรายงานของประธานการปักปันฝ่ายฝรั่งเศสนั้น ปรากฏว่าศาลโลกไม่กล่าวถึงประเด็น “สันปันน้ำที่แท้จริง” ในคำพิพากษาหลักเลยราวกับว่าไม่เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น คงเหลือแต่เอาไว้ในคำพิพากษาแย้งของผู้พิพากษาหลายคนที่เห็นว่าตามหลักข้อเท็จจริงแล้วเมื่อสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผาแล้ว ปราสาทจึงต้องอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งปรากฏว่าไม่มีผู้พิพากษาในศาลโลกแม้แต่คนเดียวที่โต้แย้งในประเด็นนี้ของฝ่ายไทยได้
ดังนั้นศาลโลกจึงไม่บรรยายชี้ขาดหรือโต้แย้งในคำพิพากษาหลักในประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงในเรื่องสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผาตามที่ฝ่ายไทยหยิบยกมาแม้แต่น้อย เพราะหากหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือบรรยายเหตุผลเมื่อไรก็จะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกฎหมายปิดปาก ซึ่งอันที่จริงแล้วศาลโลกย่อมตระหนักว่าข้อเท็จจริงเรื่องสันปันน้ำตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และผลงานการสำรวจและปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา ตลอดจนเหตุผลที่พิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์เรื่องสันปันน้ำที่ฝ่ายไทยหยิบยกนั้นนอกจากจะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกฎหมายปิดปากแล้ว ยังจะมีน้ำหนักมากกว่ากฎหมายปิดปากเสียอีก
ตรงนี้นี่เองน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกไม่พูดถึง “สันปันน้ำที่แท้จริง” และน่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ศาลโลก ไม่ตัดสินเรื่อง “แผนที่” และ “เส้นเขตแดน” ตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เพราะถ้าจะพิพากษาเรื่องแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตามที่กัมพูชาร้องขอ ศาลโลกจะไม่มีสิทธิ์ละเว้นหรือหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นในเรื่อง “สันปันน้ำที่แท้จริง” ไปได้เลย
ด้วยเหตุผลนี้เราจึงพบร่องรอยบางถ้อยคำในคำพิพากษาของศาลโลกในตอนท้ายว่าเหตุใดจึงไม่พิพากษา “แผนที่” และ “เส้นเขตแดน” ตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 จึงไม่ใช่บทปฏิบัติการของคำพิพากษาความว่า:
“คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ในทางตรงกันข้ามศาลเห็นว่าประเทศไทยนั้นหลังจากที่ได้แถลงข้อเรียกร้องของตนเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพระวิหารแล้ว ได้จำกัดการต่อสู้คดีตามคำแถลงสรุปของตนในตอนจบกระบวนพิจารณาภาควาจาอยู่แต่เพียงการโต้แย้งและปฏิเสธเพื่อลบล้างข้อต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะเลือกหาเหตุผลที่ศาลเห็นเหมาะสมซึ่งคำพิพากษาอาศัยเป็นมูลฐาน”
ความหมายก็คือไทยโต้แย้งเฉพาะโต้แย้งฝ่ายกัมพูชาเท่านั้น และปล่อยให้ศาล “เลือกมูลฐาน”เกี่ยวกับกฎหมายปิดปากอย่างเดียว โดยไม่กล่าวถึงมูลฐาน “สันปันน้ำที่แท้จริง” ใช้ในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร
ด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลไทยในยุคนั้นจึงได้ทำการประท้วง และสงวนสิทธิ์ในความอยุติธรรมของศาลโลก พ.ศ. 2505 ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนได้แถลงต่อที่ประชุมสมาชิกสหประชาชาติ โดยปราศจากการโต้แย้งใดๆจากที่ประชุมทั้งสิ้น
ส่วนกัมพูชาก็ดูจะพอใจอย่างยิ่งที่ได้ตัวปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่นั้น โดยกัมพูชายอมอยู่ในรั้วที่ฝ่ายไทยกั้นเอาไว้ให้ ไม่เคยประท้วง ไม่เคยอุทธรณ์ และไม่เคยสงวนสิทธิ์ที่หวังจะได้ดินแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 จนเลยระยะเวลา 10 ปี ตามธรรมนูญศาลโลก ที่จะขยายผลคำพิพากษาไปยังแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ไปนานแล้ว
กว่า 30 – 40 ปี ไทยกับกัมพูชาจึงอยู่กันอย่างสงบในบริเวณเขาพระวิหาร เพราะฝ่ายไทยตั้งข้อสงวนที่จะทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคต ส่วนฝ่ายกัมพูชาก็ยินดีและพอใจที่อยู่ในขอบรั้วที่ฝ่ายไทยกั้นเอาไว้ให้ คนไทยและกัมพูชาก็จะขึ้นตัวปราสาทพระวิหารจากฝั่งไทย และอยู่กันอย่างเอื้ออาทรต่อกัน
ไทยและกัมพูชากลับมาเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่อีกครั้ง เพราะแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งตายไปพร้อมกับคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารนั้น ได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543) ทำให้กัมพูชาเกิดแรงจูงใจใหม่ในการรุกราน ยึดครองแผ่นดินไทย สำแดงอำนาจอธิปไตยบนแผ่นดินไทย นำแผ่นดินไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกของกัมพูชา และยึดยอดหน้าผาฝั่งไทยให้มาเป็นฐานทัพยิงใส่ราษฎรไทยและทหารไทยอย่างอำมหิตโหดเหี้ยม เพื่อให้ได้ดินแดนไทยมาเป็นของกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 โดยอาศัยกฎหมายปิดปากเป็นพื้นฐาน
ที่น่าเศร้าก็คือรัฐบาลไทยไม่กล้าแม้จะทวงคืนแผ่นดินไทยกลับคืน ทำให้ทหารกัมพูชาได้ใจใช้อาวุธสงครามจากยอดหน้าผาบนผืนแผ่นดินไทยยิงใส่ราษฎรไทย จนราษฎรไทยต้องอพยพหนีออกจากถิ่นฐานแผ่นดินไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น