บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศาลโลกกับคดีปราสาทพระวิหาร - ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

ศาลโลกกับคดีปราสาทพระวิหาร - ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล ศาลโลกกับคดีปราสาทพระวิหาร ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าศาลโลก เป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลโลกประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่างๆจำนวน ๑๕ ท่านที่ได้รับการเสนอนามโดยกลุ่มประจำชาติในศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก และได้รับเลือกตั้งโดยการลงคะแนนเสียงทั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค อายุการทำงานของผู้พิพากษาศาลโลกแบ่งเป็นวาระ วาระละ ๙ ปี ซึ่งสามารถต่อได้หากได้รับเลือกตั้งซ้ำ วิธีการและอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ๑. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหากมิได้รับความยินยอมจากรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ การให้ความยินยอมอาจเป็นได้เฉพาะกรณีด้วยความตกลงของสองฝ่าย หรืออาจกระทำได้ในรูปปฏิญญาฝ่ายเดียว ยอมรับอำนาจศาลไว้ล่วงหน้าตามข้อ ๓๖ วรรค ๒ (Optional Clause) แห่งธรรมนูญศาล ๒. ศาลโลกจะพิจารณาและตัดสินเฉพาะข้อพิพาทที่เป็นประเด็นฟ้องเท่านั้น ทั้งนี้ โดยใช้กฏหมายระหว่างประเทศชำระคดีตามข้อ ๓๘ วรรค ๒ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอันประกอบด้วยกฏระเบียบและข้อบัญญัติในสนธิสัญญานานารูปแบบ จารีตประเพณีระหว่างประเทศ หลักกฎหมายทั่วไป และแนวคำพิพากษาของศาลตลอดจนคำสอนของผู้ชำนาญการกฏหมายระหว่างประเทศ ๓. ข้อ ๕๙ แห่งธรรมนูญศาลกำหนดไว้ว่า คำพิพากษาของศาลฯ ไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่งผู้ใดยกเว้นคู่กรณี ได้แก่ไทยและกัมพูชา และเฉพาะส่วนที่เป็นประเด็นในข้อพิพาทเท่านั้น ฉะนั้น คำพิพากษาในกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร จึงไม่อาจขยายไปถึงคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และไม่ผูกพันองค์การยูเนสโกหรือทบวงการชำนัญพิเศษอื่นๆ รวมทั้งศาลซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติและศาลระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ ศาลกฎหมายทะเล ๔. ข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า “คำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯจะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ” อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คำพิพากษาของศาลฯ จะถึงที่สุด แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท หากคู่กรณีโต้แย้งคัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม กรณีพิพาทนั้นๆ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ตามข้อ ๓๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ๕. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการในการดำเนินการบังคับคดี เช่นศาลยุติธรรมในระบบกฏหมายภายในของไทยหรือของประเทศอื่นๆ ซึ่งมีองค์กรที่จะดำเนินการตามกระบวนยุติธรรม อาทิ กองหมาย กองรักษาทรัพย์ และกองบังคับคดี ฯลฯ ฉะนั้น เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินคดีหนึ่งคดีใด จึงไม่มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา และอาจไม่มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกในกรณีละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสัมพันธภาพทางการกงสุล ค.ศ. ๑๙๖๓ ถึง ๓ คดีติดๆ กัน คดีแรก ศาลโลกมีคำสั่งระงับการประหารชีวิตคนชาติปารากวัยเนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลโลกแต่สหรัฐฯ กลับประหารชีวิตโดยทันทีทันควัน ในคดีที่ ๒ ก็มีการประหารชีวิตคนชาติเยอรมันเช่นกัน และในคดีที่ ๓ คนชาติเม็กซิกันกว่า ๕๐ คนยังรอการพิจารณาโทษในศาลอเมริกัน และหลายคนกำลังรอการประหารชีวิต ปราสาทพระวิหาร เนื่องจากปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดงรัก หรือเขาบรรทัดในเขตแดนไทยซึ่งต่อกับเขตแดนกัมพูชา ระหว่างปี ค.ศ.๑๙๐๕-๐๗ คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศส ได้ไปตรวจสอบแล้วเห็นว่าการกำหนดเขตแดนในบริเวณทิวเขาดงรัก โดยใช้สันปันน้ำเป็นหลักตามสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ นั้นชัดแจ้งอยู่แล้ว เส้นสันปันน้ำจึงเป็นเส้นกำหนดเขตไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ จนถึงปัจจุบันโดยไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งหรือให้ความเห็นเป็นอย่างอื่น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้นอกจากได้รับความยินยอมเห็นชอบจากภาคีคู่สัญญา สันปันน้ำหมายถึงอะไร สันปันน้ำคือแนวสูงสุดของเทือกเขา เวลาฝนตก น้ำฝนจะแยกตัวไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่าทั้งสองด้าน เป็นการแบ่งเขตแดนโดยธรรมชาติว่าด้านไหนเป็นเขตแดนไทย ด้านไหนเป็นของกัมพูชา อนึ่ง สันปันน้ำเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา เป็นหินที่แกร่งและสามารถยืนยงอยู่ได้ตลอดไป การกำหนดเขตแดนโดยสันปันน้ำ ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร แม้เสียงผู้พิพากษาข้างมากจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา แต่ศาลฯ ไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ มาตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ หรือความถูกต้องของเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่ดังกล่าวตามที่กัมพูชาขอให้ศาลฯ พิจารณา นอกจากนั้นยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่เขียนคำพิพากษาแย้งไว้ว่า ปราสาทพระวิหารนั้นอยู่ในดินแดนภายใต้เขตอำนาจอธิปไตยของไทย ตามหลักสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และยืนยันต่อ มาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ พื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบันของไทยกับกัมพูชาจึงได้แก่ตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แม้แผนที่อีกหลายฉบับจะลากเส้นเขตแดนไม่ตรงกัน ไทยยังคงถือว่าพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่เป็นเขตในอำนาจอธิปไตยของไทย กัมพูชาก็ถือว่าอยู่ในเขตของกัมพูชาโดยมิได้กำหนดเส้นเขตแดนที่เชื่อถือได้ ไทยยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามสนธิสัญญาทวิภาคีกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ (ค.ศ. ๑๙๐๔) ดังนี้ ข้อ ๑ กำหนดเขตแดนบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ให้เป็นไปตามยอดภูเขาปันน้ำระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่โขงเป็นเขตแดนของกรุงสยาม ตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ [ค.ศ. ๑๘๙๖] แผนที่และความผิดพลาด แผนที่ทั้งหมดที่กัมพูชานำมาอ้างประกอบคำฟ้องหรือใช้เป็นเอกสารประกอบนั้น เป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสและ/หรือกัมพูชา โดยไทยไม่มีส่วนร่วมด้วยเลยแม้แต่ฉบับเดียว แผนที่ทุกฉบับที่คัดลอกมาจากแผนที่ผนวก ๑ จึงมีความผิดพลาดโดยอำนวยประโยชน์ให้ผู้จัดทำคือฝรั่งเศส และนำความเสียหายมาสู่ประเทศไทย ไทยมิได้เคยยอมรับในอดีตและไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะยอมรับแผนที่ที่กัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามนำมาอ้างอิงในปัจจุบันไม่ว่าในกรณีใด เว้นเสียแต่ว่าไทยจะเปลี่ยนแปลงท่าทีและมีความประสงค์ที่จะหยิบยื่นประโยชน์เป็นบรรณาการให้กัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว คดีปราสาทพระวิหาร ไทย – กัมพูชา พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๕ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา คำฟ้องของกัมพูชา คำฟ้องของกัมพูชาระบุเฉพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ มิอาจขยายให้กว้างออกไปนอกพื้นที่จนครอบคลุมเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงรักด้านไทยหรือฝั่งไทยของสันปันน้ำ ดังนั้น การกล่าวถึงข้อพิพาทว่าเป็น ‘คดีเขาพระวิหาร’ หรือ ‘คดีปราสาทเขาพระวิหาร’ จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ที่ถูกต้องคือ "คดีปราสาทพระวิหาร" โดยจำกัดเฉพาะตัวปราสาทและพื้นที่บริเวณที่ตั้งของปราสาท ประเด็นคำฟ้องตามคำแถลงสรุปของกัมพูชาที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยมีทั้งหมด ๕ ข้อดังนี้ ๑. สถานะภาพของแผนที่ผนวก ๑ แนบท้ายคำฟ้อง ๒. ความถูกต้องของเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่ผนวก ๑ ๓. ชี้ขาดว่าพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา ๔. ให้ไทยถอนกองกำลังจากตัวปราสาทและบริเวณที่ตั้งปราสาท ๕. ให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่หายไปจากปราสาทพระวิหารเมื่อปี ค.ศ. ๑๓๕๐ ถึง ๑๙๖๒ *ในคำขอข้อ (๕) กัมพูชาไม่ได้ระบุว่าวัตถุโบราณที่ต้องการเรียกคืนนั้นมีอะไรบ้าง คำพิพากษาของศาลโลก คำพิพากษาของศาลโลก ในคดีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่องปราสาทพระวิหาร มีความยาวรวมทั้งสิ้น ๑๔๖ หน้า เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาโดยอ่านอย่างละเอียดเริ่มแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ในกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่หน้า ๑ ถึงหน้า ๑๔๖ เป็นคำพิพากษาโดยรวม ประกอบด้วยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาแย้งและคำพิพากษาเอกเทศ จึงจำเป็นต้องอ่านโดยตลอดจึงจะเห็นภาพรวมที่สมบูรณ์ อนึ่งการแถลงหรืออ้างอิงเอกสารอย่างไม่ครบถ้วนหรือยกเว้นไม่กล่าวถึงข้อ ความบางตอนอาจเป็นการส่อเจตนาว่าจงใจปกปิด บิดเบือน กล่าวเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษาเฉพาะประเด็นคำฟ้องตามคำแถลงสรุปของกัมพูชาข้อ ๓, ๔ และ ๕ ดังนี้ (๓) ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ศาลฯ วินิจฉัยว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา (๔) สืบเนื่องมาจาก (๑) วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา (๕) ด้วยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕ วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำแถลงสรุปข้อ ๕ ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาทหลังจากวันที่ไทยเข้าครอบครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่กัมพูชายื่นฟ้อง ประเด็นในแถลงสรุปคำขอของกัมพูชาที่ศาลฯ ไม่พิจารณา เนื่องจากศาลฯ ไม่เห็นความจำเป็นตามแถลงสรุปคำขอของกัมพูชาที่ขอให้ศาลวินิจฉัยสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือเส้นเขตแดนที่กำหนดในแผนที่ฉบับนั้นตามคำแถลงสุรปคำขอข้อ ๑ และ ๒ ของกัมพูชา จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑ ต่อ ท้ายคำฟ้องของกัมพูชารวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลฯ มิได้ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา จุดยืนของไทย ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลฯ มิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ทั้งขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลฯ แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้ โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนไว้อย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี แถลงการณ์ยืนยันจุดยืน รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบทั่วกันดังนี้ คำปราศรัยของ ฯพณฯ จอมพล สฤษฎิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕ พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "ศาลโลก" ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบมาตามลำดับแล้วนั้น โดยที่รัฐบาลของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโดยเฉพาะตัวข้าพเจ้า ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียอย่างสำคัญของชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์ฝ่าคมอาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรา จึงสมควรที่เราทุกคนจะได้เอาใจใส่ และสนใจร่วมรู้ร่วมเห็นก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ลงไปเกี่ยวกับผืนแผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตัวข้าพเจ้าเองที่ต้องชี้แจงให้พี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย ได้ทราบถึงการที่รัฐบาลนี้ต้องตัดสินใจในกรณีปราสาทพระวิหารต่อไป แต่เนื่องในการกล่าวคำปราศรับนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้งหลายอยู่มาก ข้าพเจ้าจึงจำต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจแล้ว คนไทยผู้รักชาติทุกคนมีความเศร้าสลดและขมขื่นใจเพียงใด การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลโลกในสัปดาห์ที่แล้วมา เป็นสิ่งที่เห็นกันอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว แต่ก็จะทำอย่างไรได้ เราต้องถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเราที่ต้องมาประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ เราจะไม่โทษใครเป็นอันขาด เพราะการที่ไปโทษคนที่พ้นหน้าที่ไปนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เราจะพากันนิ่งเฉยท้อแท้ใจ ชาติไทยจะยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้ เราเคยสูญเสียดินแดนแก่ประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง ถ้าบรรพบุรุษของเราของเรายอมท้อแท้ เราจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาอยู่กันจนถึงทุกวันนี้ เราจะต้องหาวิธีต่อสู้ต่อไปส่วนเราจะต่อสู้อย่างไรนั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในการต่อสู้กรณีเช่นนี้ เราอาจทำได้หลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกัน เราจะต้องได้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบ ต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และด้วยสายตามองการณ์ไกล แล้วเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด ละเมียดละไมและให้คุณประโยชน์มากที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต ชาติเราจึงจะสามารถธำรงเอกราชและอธิปไตยอยู่ได้ และอยู่ในฐานะที่กล่าวได้ว่า "เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ" ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลายโปรดอย่าได้ใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่นหรือคิดมุทะลุจะหักหาญด้วยกำลังแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ในฐานะที่มีชีวิตเป็นทหารมาแต่เล็กแต่น้อย และได้เคยผ่านสงครามทำการสู้รบมาแล้วหลายครั้ง ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความเกรงกลัวการสู้รบแต่ประการใด แต่ตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ยังไม่เป็นเรื่องที่ควรรบกัน สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกทั้งในข้อเท็จ จริงในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในหลักความยุติธรรม ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว แต่เราก็ตระหนักดีว่าคำพิพากษาของศาลเป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้ ยิ่งกว่านั้นมาตรา ๔๔ บ่งไว้ว่า "ข้อ ๑ สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นผู้แพ้ ข้อ ๒ ถ้าผู้แพ้ในคดีใดไม่ปฏิบัติ ข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำวินิจฉัยของศาล อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเป็นเป็นความจำเป็น ก็อาจทำตามคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คำพิพากษานั้นได้" เมื่อเป็นดังนี้ แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้มีความ รู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้นตามพันธกรณีแห่งสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งข้อประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนิน การทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้าให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันควร พี่น้องชาวไทยที่รัก ข้าพเจ้าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียว กับพี่น้องทั้งหลาย และถ้าพูดถึงความรักชาติบ้านเมือง ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าข้าพเจ้ามีความรักชาติไม่น้อยกว่าพี่น้องคนไทยทั้งหลาย แต่ที่รัฐบาลจำต้องโอนอ่อนปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติก็โดยคำนึงถึงเกียรติภูมิของประเทศไทยที่เราสร้างสมไว้เป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งกว่าปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ มิใช่เกิดเพราะความกลัวหรือความขี้ขลาดแต่ประการใดเลย แต่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายต้องมองการณ์ไกล เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้ ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากปราสาทพระวิหารคราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปีเราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้เป็นการสูญเสียที่สะเทือนใจคนไทยทั้งชาติ ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้แต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารยังอยู่กับไทยตลอดไป ประชาชนชาวไทยจะรำลึกอยู่เสมอว่า ปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติและไม่รักความชอบธรรม เมื่อประเทศไทยประพฤติปฏิบัติตนดีในสังคมโลก เป็นประเทศที่มีศีลมีสัตย์ ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว ปราสาทพระวิหารจะต้องกลับคืนมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติของประเทศไทยตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติครั้งนี้ คงจะทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเรายิ่งขึ้น เหตุการณ์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะสลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และจะเป็นรอยจารึกอยู่ในประว้ติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไปเสมือนหนึ่งเป็นแผลในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอยู่เสมอว่า ในที่สุดธรรมะย่อมชนะอธรรม การหัวเราะทีหลังย่อมหัวเราะดังและนานกว่า อนึ่ง ในเรื่องนี้รํฐบาลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระประมุขที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทย ที่ได้พระราชทานคติและพระบรมราโชวาทแก่รัฐบาลด้วยความที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ขอให้พี่น้องร่วมชาติจงได้วางใจเถิดว่า รัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทยที่รักก้าวไปสู่อนาคตอันสุกใสได้ ในที่สุด ข้าพเจ้าขอรับรองต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อคราวที่ชาติเข้าที่คับขันแล้ว ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทย เอาเลือดทาแผ่นดินโดยไม่เสียดายชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเองก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจมิได้น้อยกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญานด้วยสัจวาจานี้ไว้ พี่น้องที่รัก น้ำตามิได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้นและได้อะไรคืนมา นอกจากความพยายาม ความสามัคคี ความสุขุมรอบคอบ ความอดกลั้นที่จะกล้าเผชิญกับความสูญเสีย พร้อมทั้งรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อให้ชาติที่รักของเราแข็งแกร่งมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น ในขั้นสุดท้ายชาติไทยต้องประสบกับชัยชนะเสมอ เราต้องกล้าสู้ ต้องยิ้มรับต่อภัยที่มาถึงตัวเรา ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมเสมอมา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่าชาติเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด เรื่องนี้เป็นแต่เพียงเรื่องหนึ่งในเรื่องใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญกว่านี้มากนัก ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาตามวิถีทางที่ดีอยู่แล้วทุกทาง เหตุนี้มิใช่เหตุแห่งความอับจน เราจงระวังและทำในเรื่องของชาติที่สำคัญกว่านี้ ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าชาติไทยของเราจะมีอนาคตอันแจ่มใสและรุ่งโรจน์ประเทศหนึ่งอย่างแม่นมั่นในอนาคตอันใกล้นี้ เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเรา พี่น้องชาวไทยที่รัก ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้... สวัสดี... หนังสือ ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ไทยได้มีหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างมาก แต่เห็นพ้องกับคำพิพากษาแย้ง และได้ตั้งข้อสงวนว่าไทยอาจกลับเข้าไปครอบครองปราสาทพระวิหารในวันข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากไทยยังคงถือว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย หนังสือฉบับนี้ส่งไปจากกรมสนธิสัญญาและกฏหมายของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่ง ม.จ. เพลิงนพดล รพีพัฒน์ โอรสในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฏหมายไทย เป็นอธิบดี นายจาพิกรณ์ เศรษฐบุตร รักษาการที่ปรึกษากฏหมายเป็นหัวหน้ากองกฏหมาย และนายสมปอง สุจริตกุล เป็นผู้ยกร่าง หนังสือว่าด้วยข้อสงวนยังมีผลบังคับจนถึงปัจจุบันโดยมิได้มีการขาดอายุความตามความเข้าใจของบางท่าน ทั้งนี้เพราะมิได้จำกัดอยู่เพียงการทบทวนคำพิพากษาตามนัยข้อ ๖๑ แห่งธรรมนูญศาล หากใช้กับการตีความและขอบเขตของคำพิพากษานัยข้อ ๖๐ โดยตรงและข้อ ๓๓ แห่งกฏบัตรสหประชาชาติซึ่งล้วนปลอดอายุความ หนังสือดังกล่าวลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ลงนามโดย ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค อ้างถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยอย่างชัดแจ้งว่าไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗ และขัดโดยตรงต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นไทยยังได้ตั้งข้อสงวนซึ่งมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลาเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หนังสือ ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์* (แปลโดย ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล) เลขที่ (๐๖๐๑)๒๒๒๓๙/๒๕๐๕ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ค.ศ. ๑๙๖๒) เรียน ฯพณฯ อู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ นิวยอร์ค ข้าพเจ้าขออ้างถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ [พ.ศ. ๒๕๐๒] และศาลฯ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕] ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕] รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ค.ศ.๑๙๐๗ ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฏหมายและหลักความยุติธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อ ๙๔ ของกฏบัตรสหประชาชาติ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง (ลงนาม) ถนัด คอมันตร์ (ถนัด คอมันตร์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย * หมายเหตุ โปรดตั้งข้อสังเกตุว่าหนังสือของ ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ ไม่มีเอกสารอื่นหรือแผนที่แนบไปด้วยตามที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศปัจจุบันกล่าวอ้าง นอกจากนั้น ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๐๕ นายสมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ ๖ (กฎหมาย) ยังได้รับมอบหมายจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ให้เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฎหมายได้ทราบถึงจุดยืนของประเทศไทย ตลอดจนเหตุผลทางกฎหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดยละเอียด ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้แทนประเทศอื่นรวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งแต่ประการใด ปฏิบัติการของไทย ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารเสร็จสิ้น ไทยได้ดำเนินการถอนทหารและยามออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารและได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาทโดยไทยมิได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” โปรดสังเกตด้วยว่าปฏิบัติการของไทยทั้งหมดนี้ กัมพูชายอมรับด้วยความเต็มใจและมิได้โต้แย้งหรือขัดขืนแต่ประการใดเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ความสำคัญผิดเกี่ยวกับสาระของคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กัมพูชาและคนไทยบางคนได้พยายามสร้างความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๕ เกินเลยไปกว่าที่ศาลฯ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นอันมาก คำพิพากษาหน้า ๓๔/๓๖ ยืนยันว่า กัมพูชายื่นขอให้ศาลฯ พิจารณา ๕ ประการ ศาลฯ ได้ตัดสินเฉพาะข้อ ๓-๔-๕ โดยไม่รวมข้อ ๑ และ ข้อ ๒ ดังนี้ ๑. ศาลฯ มิได้ชี้ขาดว่า ข้อ (๑) แผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในอัตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ ที่กรรมการปักปันฝรั่งเศสได้ทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๗ เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย หรือมีสถานภาพตามกฎหมายที่ถูกต้องและข้อ (๒) เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาเป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้องระหว่างไทยกับกัมพูชา ๒. ศาลฯ เพียงแต่ตัดสิน ข้อ ๓-๔-๕ ว่า (๓) กัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ (๔) ขอให้ไทยถอนกองกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง และ (๕) ขอให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่หายไปจากปราสาทหลัง ค.ศ. ๑๙๕๔ โดยมิได้ระบุรายการว่ามีอะไรบ้าง (คำพิพากษาหน้า ๓๕/๓๗) ๓. ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอของกัมพูชาข้อ (๑) และ ข้อ (๒) นั้นจะเห็นได้ว่าผู้พิพากษาทั้ง ๓ ท่านที่ให้ความเห็นแย้งได้แสดงความ เห็นอย่างชัดเจนว่า (ก.) ผู้พิพากษาออสเตรเลียพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนที่ผนวก ๑ นั้นผิดพลาดหลายแห่ง มิได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่ฉบับนั้นไม่ถูกต้องในบริเวณปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ โดยพิจารณาพบว่ารายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งของไทยและกัมพูชาไม่แตกต่างกันในประเด็นความผิดพลาดในแผนที่ผนวก ๑ เส้นสันปันน้ำที่ถูกต้องอยู่ที่ขอบหน้าผาและปันปราสาทพระวิหารให้อยู่ในเขตไทย (ข.) ผู้พิพากษาจีนพิจารณาแล้วเห็นว่าเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑ นั้นคลาดเคลื่อนมาก นอกจากนั้นยังมิใช่เส้นเขตแดนที่คณะกรรมการปักปันผสมให้ความเห็นชอบ (ค.) ผู้พิพากษาอาร์เจนตินาพิจารณาเห็นว่า ศาลฯ ควรให้ความสำคัญกับรายงานทางเทคนิคของคณะผู้เชี่ยวชาญ ดังเช่นในคดีช่องแคบคอร์ฟู อนึ่ง ในกรณีที่แผนที่ขัดต่อตัวบทแห่งสนธิสัญญา ให้ยึดถือตัวบทของสนธิ-สัญญาเป็นหลัก ฉะนั้น ในกรณีปัจจุบันจึงต้องยึดถือเส้นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามสนธิ สัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ (ง.) นอกจากนั้นผู้พิพากษาอังกฤษได้ให้ความเห็นเอกเทศโดยสรุปเป็นความเห็นส่วนตัวว่า ตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญ ในบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้น เส้นสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงสรุปได้ว่า แม้ศาลมิได้วินิจฉัยความถูกต้องของแผนที่ผนวก ๑ รวมทั้งเส้นเขตแดนที่ปรากฎในแผนที่นั้นก็ตาม ยังมีผู้พิพากษาถึง ๓ ท่านและผู้พิพากษาเอกเทศอีก ๑ ท่านที่ได้ให้ความเห็นพ้องต้องกันว่า แผนที่ผนวก ๑ ผิดพลาด และไม่อาจใช้เป็นเส้นเขตแดนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ ทั้งนี้เพราะเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าวผิดเพี้ยนจากสันปันน้ำอย่างห่างไกล เส้นเขตแดนที่ถูกต้อง คือ เส้นสันปันน้ำที่ขอบหน้าผาและปันปราสาทพระวิหารรวมทั้งเขตแดนด้านทิศเหนือทั้งหมดให้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย การแปรเปลี่ยนจุดยืน ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ไทยได้เปลี่ยนแปรจุดยืนอย่างชัดเจนและกระทันหันโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหารได้พร้อมใจกันยอมรับนับถืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ลงนามโดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศไทย และรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยลงนามย่อตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เป็นเอกสารประกอบการเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาฝ่ายเดียวโดยไทยให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ สมปอง สุจริตกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง