รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือที่รู้จักกันในนาม “ศาลโลก” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ทั้งนี้ จากคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นการสิ้นสุดแห่งการรอคอยเสียที
กัมพูชา “ขู่” มานานพอๆ กับที่ไทยก็ “เกรง” มานานเช่นกัน!
พูดกันตามเนื้อผ้า ทั้งกัมพูชาและไทยไม่มีความมั่นใจพอๆ กันแหละ เพราะถ้ากัมพูชามั่นใจจริงๆ ว่าถ้าขึ้นศาลโลกอีกครั้งเขาจะได้มากกว่าที่ได้ไปแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน เขาก็คงเดินหน้ายื่นไปนานแล้ว แต่ตลอด 10-15 ปีมานี้เขาก็ดำเนินทุกยุทธวิธีหลากหลายประสานกันไป ส่วนไทยนั้นไม่มั่นใจมาโดยตลอด แต่ในระยะสองสามปีมานี้เมื่อมีสัญญาณว่าไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้แน่นอน ก็ได้เตรียมการรับมือไว้
คำขู่ของกัมพูชาเคยได้ผลในปี 2543 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศไทยยอมบรรจุข้อความเจ้าปัญหาไว้ในข้อ 1 (c) หรือ 1 (ค) ของบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU 2543 ยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ไว้ให้ขึ้นมาเป็นเอกสารบนโต๊ะเจรจาด้วย
การยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศครั้งนี้ กัมพูชาอาศัยธรรมนูญศาลฯมาตรา 60!
ควรเข้าใจนะครับว่า มาตรา 60 นี้ไม่ใช่การฟ้องคดีใหม่ที่ไทยอาจจะปฏิเสธได้ง่ายๆ เพราะไม่ได้ต่ออายุการยอมรับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้วหลังเจ็บปวดเพราะคำพิพากษาประหลาด แต่เป็นการใช้สิทธิของคู่ความขอให้ศาลตีความคำพิพากษาในคดีเดิม
“In the event of dispute as to the meaning or scope of the judgment, the Court shall construe it upon the request of any party.”
“(การตัดสินเป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์) ในกรณีที่มีข้อพิพาทกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาให้ตีความได้ตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
แม้ไม่มีเงื่อนไขด้านเวลากำกับไว้ในมาตรานี้ว่าต้องเป็นไปภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี เหมือนความในมาตรา 61 ว่าด้วยการขอให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาใหม่หลังจากพบหลักฐานใหม่ ซึ่งระบุไว้ว่าจะทำได้ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีหลังศาลมีคำพิพากษาเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับกับการที่จะไปตีความคำพิพากษาอายุ 50 ปี
คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างศาลประเทศนั้นไม่ได้พิพากษายอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรักที่เป็นภาคผนวก 1 ท้ายฟ้อง ไม่ได้พิพากษาให้เส้นในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยกำหนดให้ไทยคืนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา แต่ในมุมมองของกัมพูชาที่นำมาโพนทนาต่อชาวโลกในช่วงหลายปีหลัง โดยเฉพาะในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก พยายามตัดต่อเฉพาะข้อความให้เข้าใจว่าไทยต้องคืนปราสาทพระวิหารทั้งอาณาบริเวณ และคำพิพากษาศาลยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 คนไทยบางคนบางคณะก็ดูจะมีความเห็นเช่นนั้น
ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศแม้ไม่ได้มีความเห็นเหมือนกัมพูชา แต่ดูเหมือนพวกท่านๆ จะมีความเห็นคล้อยไปในทางว่าคำพิพากษารวมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเสมือนยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 เพียงแต่ไม่ได้พิพากษา เพราะกัมพูชายื่นเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาภายหลัง พวกท่านๆ จึงเห็นว่าการที่ไทยเสียไปเพียงตัวปราสาทนับว่าโชคดีมากแล้ว หากเรื่องนี้ต้องกลับขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง เราจะสูญเสียมากกว่าเก่า
ซึ่งก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกับอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างท่านอาจารย์ดร.สมปอง สุจริตกุลที่เห็นว่าคำพิพากษาเป็นคุณกับไทย หากรู้จักใช้ และรู้จักพิจารณาโดยองค์รวมทั้งคำพิพากษาแย้งของแต่ละท่าน
และต้องไม่ลืมว่าไทยได้สงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยเอาไว้ โดยไม่ใช่การสงวนสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีหากมีหลักฐานใหม่ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาภายใน 10 ปี แต่เป็นการสงวนสิทธิ์ในลักษณะไม่กำหนดระยะเวลา ซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลฯ
นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาโดยจตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
ความกังวลของกระทรวงการต่างประเทศ และนักวิชาการกฎหมายชั้นนำ โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ทำให้มีการเตรียมการรับมือกับมาตรา 60 นี้ในระดับสำคัญ ถึงขนาดส่งมือกฎหมายระดับนำของกระทรวงการต่างประเทศอย่างคุณวีระชัย พลาศรัย อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในช่วงปี 2551 ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
นัยว่าเพื่อเตรียมการต่างๆ ที่จำเป็นเอาไว้ล่วงหน้าทั้งด้านงานแสวงหาแนวร่วมและงานข้อกฎหมาย
อีกไม่นานเราคงได้เห็นกัน!
ผมไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงการต่างประเทศกลัวผีแล้วจึงปลุกผีขึ้นมาเสียเอง
รู้อยู่ว่าไอ้เจ้าแผนที่ระวางดงรัก หรือภาคผนวก 1 มันทำให้คนไทยทั้งประเทศน้ำตาตกบนศาลโลกมาแล้วเมื่อปี 2505 แล้วไฉนเมื่อกลัวจะต้องขึ้นศาลโลกอีกครั้ง จึงไปเขียนยอมรับสิ่งที่ทำให้คนไทยน้ำตาตกมาแล้วนั้นไว้อีก ทั้งๆ ที่มันจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2505
นายกรัฐมนตรีอาจจะบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า MOU 2543 ข้อ 1 (ค) ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก แต่นั่นก็เป็นเพียงการประกาศฝ่ายเดียวของไทย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนครั้งแรกในแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศฉบับวันที่ 31 มกราคม 2554 ในข้อ 3 กัมพูชาหายอมรับเช่นนี้ไม่ เขายืนยันตอบโต้ออกมาอย่างเต็มรูปทุกข้อทุกเม็ดทั้งในแถลงการณ์ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 และในแถลงการณ์ของนายฮอร์ นัมฮง ต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ขณะที่ไทยไม่ได้ตอบโต้กลับในประเด็นสำคัญนี้เลย ทั้งแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ควรจะยืนยันแถลงการณ์ฉบับ 31 มกราคม 2554 ของตัวเองและตอบโต้แถลงการณ์กัมพูชา 1 กุมภาพันธ์ 2554 และในแถลงการณ์ของนายกษิต ภิรมย์ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ 14 กุมภาพันธ์ 2554
กัมพูชาเขาบอกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา โดยอ้างหลักฐานเป็นฉากๆ ขณะที่ไทยไม่ได้พูดเต็มปากเต็มคำต่อเนื่องว่าเป็นแผ่นดินไทย และไม่ได้ผลักดันทหารต่างชาติออกไปโดยวิธีอื่น ทั้งๆ ที่มีโอกาสมีนาทีทองในช่วงที่กัมพูชาโจมตีไทยในช่วงวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2554 และช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยไทย “ถอย” กลับมายึดหลักว่าเขตแดนระหว่างสองประเทศยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่บรรลุข้อตกลงในการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ตามกรอบ JBC ที่ยึดหลักการ MOU 2543
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งสู้คดีแพ้เมื่อปี 2505 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคนหนึ่งทำข้อตกลงปี 2543
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนล่าสุดกำลังจะไปสู้คดีเดิมรอบใหม่??
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น