บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไทยถอนตัวจากอนุสัญญามรดกโลก โดย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล


ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูเนสโกในเรื่องมรดกโลก กรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ๒ สมัยการ ที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงปารีส ได้ลาออกจากคณะกรรมการมรดกโลก หรือถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จะมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อบทแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญา ซึ่งปัจจุบันได้มีการประมวลไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ มีผลบังคับกับรัฐที่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีกว่าร้อยประเทศ และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นข้อบทที่เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามจารีตประเพณี และในทางปฏิบัติของอารยรัฐแล้วเกือบทั้งหมด จึงมีผลบังคับในทางปฏิบัติกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งเป็นภาคีและไม่เป็นภาคีโดยสมบูรณ์แบบตามอนุสัญญากรุงเวียนนา
ในสาระสำคัญนั้น อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ มีข้อบทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเพิกถอน หรือถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญา ตามข้อ ๓๕ วรรค ๑ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาว่าผู้แทนไทยหรือหัวหน้าคณะผู้แทนไทยมีสิทธิอำนาจในการถอนตัว ตามอนุสัญญาหรือไม่เพียงใด

ปัญหาซึ่งอาจตามมาคือ การถอนตัวหรือเพิกถอนการเป็นภาคี หรือสมาชิกสภาพของรัฐภาคีของคณะกรรมการมรดกโลก และอนุสัญญามรดกโลก จะมีผลทางกฎหมายเมื่อใดหรือภายใต้เงื่อนไขประการใด การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันทีที่ได้แสดงออก แต่ผลทางกฎหมายนั้น สมาชิกภาพของไทยในคณะกรรมการมรดกโลกยังคงเป็นเช่นเดิมต่อไปอีก ๑๒ เดือน หากจะพิจารณาในแง่อนุสัญญาพหุภาคีแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการประกาศให้ภาคีอนุสัญญาอื่น ๆ ได้รับทราบ และคณะกรรมการมรดกโลกเองจะได้ปรับสถานภาพเกี่ยวกับสิทธิ และภาระหน้าที่ที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคณะ กรรมการและภาคีสมาชิกอื่น ๆ เพราะการถอนตัวย่อมกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกอื่นด้วย ฉะนั้น การให้โอกาสสมาชิกอื่นทราบเพื่อปรับตัวหรือตั้งข้อสังเกต ทัดทาน เห็นชอบ โต้แย้ง หรือตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับผลกระทบ เป็นสิ่งที่สังคมประชาคมและประชาชาติยอมรับเป็นทางปฏิบัติระหว่างอารยประเทศ
เหตุผลที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้อรรถาธิบายไว้นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแพร่หลายทั่วไปในด้านความชัดเจน แต่ในแง่ของการเมืองภายในประเทศ การลาออกเป็นสิ่งที่ไทยพึงกระทำมานานแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นสมาชิกหรือเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก ประเทศสมาชิกต้องรับภาระชำระค่าบำรุงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งไทยได้ประโยชน์เป็นนามธรรมเท่านั้น โดยได้ชื่อว่ามีสถานที่หลายแห่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา สุโขทัย บ้านเชียง ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และผืนป่าเขาดงพญาเย็น ฯลฯ โดยไทยได้ประโยชน์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของยูเนส โก
การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์หลักของยูเนสโกอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นฝ่ายเสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความเพื่อขยายผลคำพิพากษาศาล โลก พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งไทยไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอด คำพิพากษาดังกล่าวประกอบด้วยคำพิพากษาหลัก และคำพิพากษาแย้งในสาระสำคัญของผู้พิพากษาถึงสามท่าน รวมทั้งคำพิพากษาเอกเทศของผู้พิพากษาอีก ๑ ท่าน ที่ไม่ควรถูกละเลยหรือมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ ถึงนายอูถั่น ผู้รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบโดยทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก เพราะขัดต่อสนธิสัญญา ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต่อหลักความยุติธรรม พร้อมกับมอบหมายให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่หก (กฎหมาย) แถลงเพิ่มเติม ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ ๑๗ ค.ศ. ๑๙๖๒ คำแถลงดังกล่าวมีความยาวประมาณ ๔๐ หน้ากระดาษ เป็นภาษาอังกฤษโดยมีล่ามทำหน้าที่แปลเป็นภาษาทำงานทางการของสหประชาชาติทุก ภาษา ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนประเทศอื่นใดรวมทั้ง ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา ตั้งข้อสังเกตหรือโต้แย้งแต่ประการใด
แม้จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ไร้ความยุติธรรม ไทยก็ได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ ของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างครบถ้วน แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น ธรรมนูญข้อ ๕๙ ของศาลฯ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่มีผลบังคับนอกจากประเทศคู่กรณี และจำกัดเฉพาะในกรณีพิพาทนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันประเทศอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศใด ๆ หรือในข้อพิพาทอื่นใด จึงไม่ครอบคลุมไปถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ประการใด ฉะนั้น การขยายความเกินเลยขอบเขตคำพิพากษาเดิม เพื่อนำมาใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนย่อมไม่สามารถทำได้ ไทยจึงสมควรลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกโดยด่วน มิฉะนั้น จะเป็นการยอมรับพันธะกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของยูเนสโก อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียของประเทศชาติ
การถอนตัวจากอนุสัญญาสากลนั้น ความจริงเป็นอำนาจสิทธิขาดของรัฐภาคี โดยผ่านตัวแทนหรือคณะผู้แทนของรัฐภาคี โดยแถลงในที่ประชุมหรือยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลไทยใช้ประกอบการถอนตัวหรือความตื้นลึกหนาบางที่จะแถลง ให้ประชาชนทราบเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาลไทย
โดยที่ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่คดีประสาทพระวิหารกำลังอยู่ระหว่างการ พิจารณาการตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๒ จึงยังเป็นสาระที่มีสถานะเป็นปัญหา “sub judice” ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงมิบังควรที่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือแม้แต่ผู้พิพากษาในคดีดังกล่าว ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือนักนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ จะลงความเห็นหรือวิพากวิจารณ์ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาสิ้นเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะการลงความเห็นก่อนกาลเป็นการสุ่มเสี่ยงในการหมิ่นอำนาจศาล หรือละเมิดจริยธรรมของนักกฎหมายระหว่างประเทศ นักนิติศาสตร์ผู้คุ้นเคยกับจริยธรรมในการประพฤติปฏิบัติ ย่อมต้องเคารพและปฏิบัติตามระเบียบวินัยของวงการอย่างเคร่งครัด
ข้าพเจ้าจึงขอเรียนชี้แจงในฐานะอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญขององค์การยู เนสโกในเรื่องมรดกโลก กรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติถึงสองสมัยเป็นเวลา ๑๐ ปี เป็นผู้เสนอรายงานพิเศษ และประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายที่ได้พิจารณาร่างอนุสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งข้อบทอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง