โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"พิสิฐ"ชี้ไม่ลาออกภาคีมรดกโลกยังไม่มีผล ไทยถูกมองขี้แพ้ชวนตี "ธราพงศ์"ย้ำต้องนายกฯ, รมว.บัวแก้ว ลงนาม สภาต้องเห็นชอบ คาดมรดกโลกร่วมเขมรไม่ย
วันนี้(14ก.ค.) ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทาลัยธรรมศาสตร์ มีการเสวนาเรื่อง "การบริหารจัดงานมรดกโลก ในกระแสโลกาภิวัตน์" ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีต ผอ. ศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ แห่งเอเชียและแปซิฟิก และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการจัดงาน ทรัพยากรวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยโดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยไปเจรจามรดกโลก ยื่นหนังสือลาออกจากภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก เห็นว่านายสุวิทย์เป็นเพียงตัวแทนหัวหน้าฝ่ายไทย จึงไม่มีสิทธิ์เด็ดขาด ขณะนี้การอออกจากอนุสัญญายังไม่เป็นผลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการดำเนินการจะต้องผ่านกระบวนการจากกระทรวงการต่างประเทศเสียก่อน
ดร.พิสิฐ กล่าวต่อไปว่า ไทยได้ยื่นหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงไม่รับข้อเสนอในที่ประชุมเท่านั้น และคิดว่าเมื่อไทยได้ส่งหนังสือดังกล่าวออกไปแล้ว ก็สามารถสมัครกลับเข้าไปเป็นภาคีใหม่ก็ได้ ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญามรดกโลก 187 ประเทศ ซึ่งจะช่วยให้แต่ละประเทศช่วยคุ้มครองแหล่งมรดกโลกซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นการตักตวงผลประโยชน์ของงประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างที่เข้าใจกัน หากเห็นว่าการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาไม่ดีจริงคงจะไม่ม ีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีระหว่างไทยกับกัมพูชาถือเป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปราสาทพระวิหารอยู่บนเส้นเขตแดนของสองประเทศ
ดร.พิสิฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้แนวทางประเทศไทยสามารถทำได้ คือการทำหนังสือเพื่อสร้างความเข้าใจกับประเทศสมาชิก อีก 185 ประเทศ อาจจะทำให้สถานการณ์ทางความขัดแย้งดีขึ้น เพราะปัจจุบันเรายังเดินตามประเทศกัมพูชา ก็เหมือนประเทศไทยไปทำร้ายเขาหรือเป็นผู้ร้าย ก็จะไม่เป็นผลดีเท่าใดนัก ส่วนการที่ไทยจะนำเรื่องกฎหมายมาเป็นตัวเดินเรื่อง ก็จะไม่เป็นประโยชน์ เพราะทางกัมพูชาก็จะนำคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 มาเป็นข้ออ้างว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาฝ่ายเดียวแล้ว
ส่วนที่จะเสนอเป็นมรดกโลกร่วมนั้น อย่าไปพูดถึงเพราะทางกัมพูชาไม่รับข้อเสนออยู่แล้ว และก็ไม่มีความเป็นมิตรไมตรีที่จะให้ ไทยเสนอร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม อย่านึกว่าการขัดแย้งเรื่องดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ที่ผ่านมา หลายประเทศก็ยังมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น และยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น เราจะต้องมาหาทางออกว่าจะทำอย่างไร ทางดีที่สุดควรใช้ทางออกทางด้านวิชาการให้เป็นประโยชน์ทั้งสองประเทศ
"การที่กัมพูชาทำอะไรสำเร็จ ก็เพราะมีชาติมหาอำนาจ และ ชาติที่เก่งมาช่วยสนับสนุนด้วยทุกครั้ง แต่ประเทศไทยกลับไม่มีเพื่อนที่ไหนมาช่วยดำเนินการ ทั้งที่มีภาคีสมาชิกอีกตั้ง 185 ประเทศ เราก็ยังไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงเพื่อนสมาชิกเลย จึงถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร เป็นผู้ร้าย เป็นนักเลง ผมคิดว่า เราควรจะต้องเป็นภาคีอนุสัญญาต่อไป การถอนออกไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะถูกมองในทางที่ไม่ดี เป็นประเทศใหญ่กว่าแพ้ประเทศเล็ก แล้วขายหน้าจึงถอนตัวออก ทำไมเราไม่ใช้ภาคี ทำอย่างกัมพูชาทำ เรามีเพื่อนมากแต่เราไม่สนใจ ส่วนการล็อบบี้ก็เกิดขึ้นตลอด โดยเฉพาะกัมพูชาก็ชั้นหนึ่งในการล็อบบี้ ขอจับมือประเทศนั้นประเทศนี้ตลอด และยอมรับว่าทุกประเทศจะต้องมีการล็อบบี้” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ฯ กล่าว
นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า ไทยคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เพราะทราบว่ามีการสร้างห้องน้ำ สร้างถนน ในเขตพื้นที่สันปันน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบปราสาท ฝ่ายไทยก็ถือว่าเป็นที่ของไทย ดังนั้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงถือเป็นการละเมิดอธิปไตย และเกรงว่าเมื่อแผนบริหารจัดการได้รับการยอมรับ ก็จะเป็นปัญหาผูกพันต่อพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย การเราลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกนั้น ก็จะมีผลคือแผนการบริหารจัดการ จะไม่เข้าสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการมรดกโลก ในชุดการรุกล้ำพื้นที่อธิปไตยของไทย
ผอ.สำนักโบราณคดี กล่าวต่อไปว่า ส่วนการลาออก ของนายสุวิทย์ นั้นเป็นการยื่นประท้วง ไม่มีผลการลาออก เพราะผู้จะลงนามลาออกจากได้ คือ นายกรัฐมนตรี หรือ รมว.การต่างประเทศ ซึ่งการลาออก ที่ปารีส ช่วงนั้นเป็นเวลาที่ไทยไม่มีสภา เพราะนายกฯ ได้ยุบสภาไปแล้ว ถ้าไม่มีสภารับรอง ก็จะผิดตามมาตรา 190 นายกฯ จึงลงนามไม่ได้ ทำให้ขณะนี้ เรายังเป็นสมาชิก คำลาออกของนายกสุวิทย์ ยังไม่มีผล แต่เป็นการประท้วง เท่านั้น จึงไม่ต้องสมัครใหม่ แต่มีผลทำให้แผนการบริหารจัดการไม่มีการพูดถึงอีกเลยในการประชุมมรดกโลก และยังไม่มีผลสรุป คาดว่าต้องรอที่ปรึกษากฎหมายขององค์การยูเนสโก สรุปออกมาอีกครั้ง
"ในที่ประชุมมรดกโลก ได้ต่อรองกัน โดยทางกัมพูชาขอขึ้นมาบูรณะตัวปราสาทพระวิหาร ทางไทยก็ยินดี เพราะประเทศสมาชิกต้องช่วยกันรักษาแหล่งมรดกโลก ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนใด ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยก็จะสนับสนุนและขอให้เคารพอธิปไตยของไทย เพราะการขึ้นไปบูรณะจะต้องมีการขนอิฐ หิน ดิน ทราย ขนคนงาน ผ่านดินแดนไทย ดังนั้น จึงต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลไทย แต่ทางกัมพูชาไม่ยอมรับ และทำให้เราก็ไม่ยอมเช่นกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่เป็นการรักษาอำนาจอธิปไตย เราทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเรามีกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกรอบกำกับในการทำงานอยู่” นายธราพงศ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น