การเมืองแบบ ฮุน เซน “ผู้ไม่เคยผิดพลาด”
|
ทรงฤทธิ์ โพนเงิน |
|
|
การ ที่ ฮุน เซน ได้พยายามกระทำในทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ความขัดแย้งกับไทยอันเกี่ยว เนื่องกับกรณีปราสาทพระวิหาร (มรดกโลกของ ฮุน เซน) ไปสู่เวทีสากลนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นความพยายามที่จะดึงเอาประเทศมหาอำนาจ เข้ามาข่มไทย (ที่เป็นประเทศใหญ่กว่ากัมพูชา) ด้วยมีความหวังว่าการเข้ามาของประเทศมหาอำนาจนั้นจะทำให้กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ ได้เปรียบไทยเหมือนกับในอดีตเมื่อ 49 ปีก่อนที่ศาลระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ได้ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายได้ครอบครองปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียว นั่นเอง
แต่ถ้าหากจะมองลึกเข้าไปในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองภายในของกัมพูชาใน เวลานี้ ก็จะทำให้รู้ว่าที่จริงแล้วการช่วงชิงการนำระหว่างนักการเมืองเขมร และกระแสเสียง (กร่นด่า) ของชาวเขมรที่มีต่อการนำของ ฮุน เซน นั้นก็คือเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ ฮุน เซน ต้องพยายามดิ้นรนในทุกวิถีทางเพื่อทำ ให้ตนเองมีความได้เปรียบในทางการเมืองต่อไป ซึ่งในที่นี้คือการกระทำในทุกวิถีทางเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนใน หลายๆเหตุการณ์
อย่างเช่นการที่ให้สถานีโทรทัศน์ “บายน” ของ ฮุน มานา บุตรสาวแสนสวยและสุดรักของ ฮุน เซน นั้นทำการระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวชาวเขมรที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุ โศกนาฏกรรมในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีที่แล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลทำให้ภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำของ ฮุน เซน ดีขึ้นแต่อย่างใดเลยในเวลานี้
ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า ฮุน เซน ไม่เพียงจะออกมาประกาศปัดความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลและยังได้แสดงท่าที ปกป้องพลพรรคของตนที่จะต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะคณะผู้ปกครองกรุงพนมเปญเท่า นั้น หากแต่ล่าสุดการปัดความรับผิดชอบเช่นว่านี้ก็ยังได้ลุกลามไปถึงสภาแห่งชาติ กัมพูชาอีกด้วย เมื่อปรากฏว่า เฮง สัมริน ประธานสภาแห่งชาติ ผู้ซึ่งอยู่ใต้ชายคาพรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน ที่ครองเสียงข้างมากจนสามารถผูกขาดอำนาจในสภาแห่งชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้น ได้ปฏิเสธคำร้องของฝ่ายค้าน ที่ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสืบสวน-สอบสวนหาสาเหตุที่ก่อให้ เกิดเหตุ โศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้โดยพลพรรคของ ฮุน เซน ได้ให้เหตุผลประกอบการปฏิเสธคำร้องของฝ่ายค้านว่าสภาแห่งชาติไม่ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสืบสวน-สอบสวนหาสาเหตุที่ก่อให้เกิด เหตุโศกนาฏกรรมดัง กล่าวเป็นการเฉพาะ จึงไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองและควรปล่อยให้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ ก็คือคณะผู้ปกครองกรุงพนมเปญในสังกัดพรรคประชา ชนกัมพูชาของ ฮุน เซน ที่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธความรับผิดชอบของ ฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชาดังกล่าวนี้ ก็หาได้ทำให้เรื่องราวมีอันต้องจบลงไปง่ายๆ แต่อย่างใดไม่ เพราะในเมื่อว่าฝ่ายรัฐบาล และรัฐสภาที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของ ฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชาได้ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นนี้ จึงได้กลับกลายเป็นช่องทางให้ฝ่ายค้านกล่าวคือพรรคสัม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนกัมพูชานั้นใช้เป็นโอกาสในการขยายผลไปสู่การบ่อนทำลาย ทางการเมืองต่อ ฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชา ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ด้วยการประสานความร่วมมือกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาและจาก ต่างประเทศในการจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากรัฐบาลของ ฮุน เซน ขึ้นมารับผิดชอบในการค้นหาความจริงที่ก่อให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวแล้ว ในเวลานี้
การเดินเกมรุกของฝ่ายค้านทางการเมืองในกัมพูชาดังกล่าวนี้นับได้ว่าเป็น การเคลื่อนไหวที่ฉลาดมากครั้งหนึ่ง เนื่องจากรู้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากรัฐบาลขึ้นมาเพื่อสืบ ค้นหาความจริงที่ก่อให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ ย่อมจะไม่ถูกขัดขวางจากทางฝ่ายรัฐบาลของ ฮุน เซน อย่างแน่นอน เพราะถ้าหากฝ่ายรัฐบาลของ ฮุน เซน จะกระทำเช่นนั้นก็ไม่เพียงจะถูกสาธารณชนมองว่าได้พยายามขัดขวางการปฏิบัติ หน้าที่เพื่อส่วนรวมของฝ่ายค้านเท่านั้น หากก็ยังจะถูกมองว่าฝ่ายรัฐบาลของ ฮุน เซน นั้นได้พยายามกระทำในทุกวิถีทางเพื่อปกปิดความบกพร่องของฝ่ายตน โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตไปกว่า 350 ศพอีกด้วย
แน่นอนว่า ฮุน เซน เองก็รู้ดีว่าผลที่จะได้รับจากการสืบค้นหาความจริงของเหตุโศกนาฏกรรมดัง กล่าวย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเขาและพรรคประชาชนกัมพูชาเป็นแน่ แต่การที่จะไปขัดขวางปฏิบัติการของคณะกรรมการดังกล่าวของฝ่ายค้านก็ย่อมจะ ไม่เป็นผลดียิ่งกว่า เพราะฉะนั้น จึงทำให้ ฮุน เซน ได้แต่รอคอยวันเวลาที่จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของผลที่จะได้จากการสืบค้น ดังกล่าวนี้เท่านั้น
ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น ผลที่เกิดจากความผิดพลาดโดยตรงของ ฮุน เซน ก็คือการที่เขาได้ใช้ความสำเร็จจากการเจรจาต่อรองจนทำให้ UNESCO รับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นมารับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองของ เขาและพรรคประชาชนกัมพูชาโดยแท้ ซึ่งนั่นก็คือการที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่า สุดเมื่อกลางปี 2008 ที่ผ่านมา ทั้งๆที่ในช่วงก่อนหน้านั้นผลจากการหยั่งเสียงของทุกสำนักต่างได้ผลลัพธ์ เป็นอย่างเดียวกัน นั่นก็คือบุคคลที่ชาว เขมรอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชามากที่สุดในเวลานั้นคือ สัม รังสี
เนื่องจากว่าการบริหารงานของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้ ฮุน เซน ในช่วงปี 2003-2008 นั้นมีแต่ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนชาวเขมรอย่างกว้างขวาง เช่นการไล่ที่ของประชาชนชาวเขมรตาดำๆ นับแสนคนเพื่อนำเอาที่ดินไปให้นายทุนสร้างตึก การกดค่าจ้างและลดค่าล่วงเวลาของแรงงานเพื่อเอาใจนาย ทุนในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก การถูกครหาและสงสัยว่ายินยอมเสียผืนแผ่นดินให้กับฝ่ายเวียดนาม และการล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น
แต่ครั้นเมื่อการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารได้เข้ามาช่วยชีวิต ฮุน เซน และพรรคประชาชนฯไว้เช่นนี้กลับยิ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทยมาก ขึ้นถึงขนาดทำให้ไม่ได้ผลประโยชน์อันใดเลยจากการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระ วิหารในตลอดช่วงเกือบ 3 ปีมานี้ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะความผิดพลาดของ ฮุน เซน อีกเช่นเคยเนื่องจาก ฮุน เซน ได้แสดงความอหังการ์ประกาศกร้าวเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย มิหนำซ้ำยังได้แสดงการสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายของ อภิสิทธิ์ อย่างชัดเจนด้วยการแต่งตั้งให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษานโยบายด้านเศรษฐกิจของตนเองและรัฐบาลกัมพูชาอีกต่างหาก
แน่นอนว่า ฮุน เซน ย่อมไม่เคยยอมรับว่าปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นความผิดพลาดของตน เอง แต่กลับได้พยายามหาทางกลบเกลื่อนปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอดด้วยการพยายามสร้าง เงื่อน ไขเพิ่มให้กับความขัดแย้งที่มีอยู่กับฝ่ายไทยให้มากขึ้น
ยิ่งเมื่อต้องตกเป็นเป้าหมายของการที่จะถูกเล่นงานจากทางฝ่ายของ สัม รังสี ที่กำลังจะหวนกลับไปจับมือกับเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ที่เพิ่งจะประกาศหวนคืนสู่การเมืองอีกครั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ ฮุน เซน ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าปมเขื่องที่ฝ่ายของ สัม รังสี ได้นำเสนออย่างสดๆร้อนๆในเวลานี้ ก็คือการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขตแดนของกัมพูชากับประเทศ เพื่อนบ้าน (ไม่เฉพาะกับไทยเท่า นั้นแต่ยังรวมถึงเวียดนามและลาวด้วย) ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลของ ฮุน เซน แต่กลับปรากฏว่า ฮุน เซน ได้ปฏิเสธข้อเสนอที่ว่านี้ไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเรื่องเกี่ยวกับเขตแดนเป็นเรื่องทางเทคนิคที่จะต้องใช้ผู้ ที่มีความรู้ความชำนาญการเป็นพิเศษเท่านั้น
ครั้นแล้วการปฏิเสธเช่นนี้ของ ฮุน เซน กลับยิ่งทำให้ประชาชนชาวเขมรในวงกว้างได้ตั้งคำถามและข้อสงสัยว่าสาเหตุที่ ฮุน เซน ได้ปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายค้านเช่นนี้เป็นเพราะต้องการปกปิดสิ่งที่ได้ตกลง ร่วมกับฝ่ายเวียดนามเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนระหว่างกันไปแล้วหรือไม่ โดยสิ่งที่ ฮุน เซน ต้องการจะปกปิดในที่นี้ก็คือการยอมเสียดินแดนบางส่วนให้กับเวียดนามในฐานะ ผู้ที่ทำให้ ฮุน เซน มีอำนาจวาสนาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้หรือไม่
แน่นอนว่า ฮุน เซน ย่อมที่จะต้องปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าวอยู่แล้วแต่ว่าการปฏิเสธก็ย่อมจะไม่ สามารถให้ทำคำถามและข้อสงสัยดังกล่าวหายไปจากความคิดของชาวเขมรแต่อย่างใด ไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงมีแต่การขยายความขัดแย้งว่าด้วยปราสาทพระวิหารที่มีอยู่กับไทยให้เป็น เรื่องใหญ่เท่านั้น จึงจะสามารถกลบเกลื่อนความผิดพลาดทั้งหมดข้างต้นของ ฮุน เซน ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยปมเขื่องอย่างหนึ่งที่ ฮุน เซน กำลังพยายามโฆษณาชวนเชื่ออยู่ในเวลานี้ ก็คือการสร้างภาพ “มาร” ของไทยในฐานะผู้ขัดขวางมรดกโลกและเป็นผู้รุกรานเขตอธิปไตยของกัมพูชานั่น เอง!!! |
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น