บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บันทึกในประวัติศาสตร์ ไทยเสียพื้นที่ 4.6 ตาราง กม.ให้เขมร!!


               
    
  ในที่สุดเราก็ได้เห็นบุคลิกและวิธีพูดของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในแต่ละปัญหาได้อีกครั้ง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมาให้เห็นอยู่เสมอ
      
       กรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาก็เป็นตัวสะท้อนว่า บุคลิกลักษณะนิสัยของอภิสิทธิ์ แทบไม่แตกต่างจาก “ปลาไหล” ที่พร้อมจะใช้คำพูด “เฉไฉ” ออก ไปได้ทุกมุม ไม่มีทางได้คำตอบคำยืนยันที่ชัดเจน ทั้งที่มีความจริงประจักษ์ให้เห็นแล้วว่าเขาล้มเหลว ทำผิดพลาด แต่ก็ยังใช้คำพูดวกวน แก้ตัวกันไปแบบน้ำขุ่นๆ
      
       นี่เป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่แม้จะมองว่าจนมุมแล้ว แต่ก็พลิ้วบิดตัวออกไปได้ ทิ้งไว้แต่ความโมโหดาลเดือดให้กับคนที่รู้ทัน และติดตามเรื่องราวอยู่ทุกฝีก้าว
      
       ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้ออกมาเปิดเผยท่าทีล่าสุดของฝ่ายไทยต่อกรณีความขัด แย้งกับกัมพูชา ในกรณีปัญหาชายแดน ทั้งในกรณีพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่ประมาณเกือบ 3 พันไร่ รวมไปถึงกรณีการเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทของคณะกรรมการมรดกโลก ของยูเนสโก โดยเฉพาะในเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ทางรัฐบาลได้เปิดทางให้ “คณะสำรวจ” ชาวอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
      
       ตามคำพูดของนายกรัฐมนตรี บอกว่าเป็นผลมาจากการหารือของระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา พล.อ.เตีย บัญ เมื่อวันที่ 16-18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศอินโดนีเซีย
      
       นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า “คณะสำรวจ” อ้างว่าไม่ใช่ “คณะผู้สังเกตการณ์” เป็นพลเรือนเข้ามาดูจุดที่พักของคณะสังเกตุการณ์ มาตรวจสอบในพื้นที่เพียง 1-2 วันก็กลับไป อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในเรื่องบทบาทแล้วมันก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำหน้าที่เป็นผู้ สังเกตการณ์นั่นเอง เพียงแต่นี่คือการใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความสับสน เป็นการเลี่ยง หรือถ้าพูดให้ตรงๆ ก็คือการพูดแบบ “เอาตัวรอด” เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ หรือถูกชาวบ้านที่ติดตามปัญหาอย่างรู้ทันด่าว่าเท่านั้นเอง
      
       เพราะเมื่อได้ยินคำชี้แจงจากฝั่งกัมพูชา โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ยืนยันของ พล.อ.เตีย บัญ กลับให้ข้อมูลไปในทางตรงกันข้ามว่า ฝ่ายไทยยินยอมให้เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่ได้แล้ว
      
       อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร!!
      
       อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคณะสำรวจ หรือว่า คณะผู้สังเกตการณ์ เข้ามาในพื้นที่ มันจะแตกต่างกันตรงไหน เพราะถ้าต่างกันก็คงจะเป็นเพียงแค่ “การเขียน” ต่างกันเท่านั้น เพราะบทบาทและหน้าไม่ได้ต่างกันแต่อย่างใด
      
       นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีย้ำว่า หากทางฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมถอนทหาร ถอนชุมชนออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปเสียก่อนก็ไม่ต้องมาคุยกันนั้น เป็นการพูดเรื่อยเปื่อย ทำราวกับว่าชาวบ้านคนที่ฟังอยู่นั้นมันไม่มีมันสมอง คิดตามไม่ทัน แม้ว่าอาจจะพูดไม่เก่ง โต้วาทีไม่คล่อง แต่รับรองว่าที่ผ่านมาได้เห็นความเป็นไปอยู่ตลอดเวลาว่า คำพูดกับการกระทำนั้นสวนทางกัน
      
       ที่ผ่านมาทางนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ประกาศมาตลอดเวลาว่าไม่ยอมถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมถึงไม่ยอมเจรจาแบบทวิภาคีกับไทยเป็นอันขาด นอกจากมีประเทศที่ 3 ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาในความเป็นจริงแล้วคำพูดจากฝั่งโน้นยังพูดแล้วทำมากกว่าเสีย อีก
      
       สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคณะสำรวจหรือคณะสังเกตการณ์เข้ามาแล้ว ในฝั่งกัมพูชาจะต้องมายืนอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจริง เท่ากับว่าเราสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ตรงนั้นให้กับฝ่ายตรงข้ามไป แล้ว อย่างน้อยก็ต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไปให้เขาเรียบร้อยแล้ว และโอกาสที่จะขับไล่ออกไปทำไม่ได้อีกเลย
      
       คำพูดของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยืนยันว่า หากทางฝ่ายกัมพูชาไม่ถอนทหารออกไปก่อนแล้ว จะไม่มีการเจรจากันนั้น ถ้าพิจารณาจากทุกเรื่องที่เคยพูด แล้วทุกอย่างล้วนออกมาในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่เรื่องเอ็มโอยู 43 ที่บอกว่าจะทำให้กัมพูชาไม่ละเมิด สามารถเจรจาแบบทวิภาคีกันได้ จนในที่สุดก็เกิดการรุกล้ำข้ามแดนเข้ามา ต่อมาก็บอกว่าจะไม่ยอมให้อินโดนีเซียเข้ามา แล้วเป็นไง มาวันนี้กำลังจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามากำหนดชี้พิกัดในพื้นที่
      
       นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปก็คือ ในวันที่ 25-26 พฤษภาคมนี้ ทางฝ่ายไทยสามารถเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนวาระการพิจารณาอนุมัติแผน บริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารออกไปก่อนได้หรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบรอบด้านแล้วทำให้น่าเชื่อว่าเราคงทำไม่สำเร็จ แน่นอน เนื่องจากเวลานี้หากสำรวจไล่เรียงดูคณะกรรมการที่เห็นด้วยกับฝ่ายไทยมีไม่ ถึงครึ่ง ซึ่งส่วนสำคัญก็คือ เป็นเพราะเราเดินไม่ทันเกมฝ่ายกัมพูชา ตกเป็นฝ่ายรับตลอดเวลา
      
       ประเด็นที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ฝ่ายไทยได้ยอมรับในขอบเขตของศาลโลกในกรณีประสาทพระวิหารอีกครั้ง โดยเตรียมคณะทำงานว่าจ้างทนายความชาวฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้คดีที่ฝ่ายกัมพูชา ยื่นเรื่องขอให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ว่านอกจากตัวปราสาทพระวิหารแล้วยังครอบคลุมพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วยหรือไม่ ลองนึกภาพเอาก็แล้วกันว่าเราสุ่มเสี่ยงแค่ไหน เราจะได้เปรียบหรือไม่ ลักษณะที่เป็นอยู่ในเวลานี้เหมือนกับว่าเราตั้งรับ ถอยร่นพ่ายแพ้ในทุกแนวรบ เพียงแต่ว่าผู้นำ “ปากแข็ง” ไม่ยอมรับความผิด
      
       ดังนั้น การที่บอกว่าเจ้าหน้าที่อินโอนีเซียที่เข้ามานั้นเป็นเพียง “คณะสำรวจ” ไม่ใช่ผู้สังเกตการณ์ เป็นเพียงการกลบเกลื่อนความล้มเหลว เฉไฉแบบปัดให้พ้นตัวไปวันๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงเราเสียท่า เสียดินแดนโดยเฉพาะพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้กัมพูชาอย่างถาวรแล้ว เพียงแต่รอประกาศจากคำสั่งศาลโลกเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยก็จะนำมาอ้างว่านี่เป็นคำสั่งศาล ไม่ใช่ความผิดพลาดของเอ็มโอยู 43!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง