บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

‘ฮุนเซน’ได้หรือเสียอะไรจากการทำศึกชายแดนกับไทย โดย เซบาสเตียน สแตรงจิโอ


       Hun Sen’s war calculations
       By Sebastian Strangio
       02/05/2011
      
       เนื่องจากกัมพูชามีแสนยานุภาพทางทหารอ่อนด้อยกว่าไทยมาก ดังนั้นนายกรัฐมนตรีฮุนเซน จึงกำลังเล่มเกมที่ต้องทุ่มวางเดิมพันสูงมากทีเดียว ในการทำศึกชายแดนอย่างยืดเยื้อกับไทย การที่บุรุษเหล็กของเขมรผู้นี้ยังมีเจตนารมณ์ที่จะเสี่ยงขนาดนี้ ถึงแม้เขาสามารถยึดครองอำนาจในประเทศเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาดสมบูรณ์อยู่แล้ว บ่งชี้ให้เห็นว่าถ้าหากเขาไม่ได้กำลังพยายามซ่อนเร้นอำพรางประเด็นปัญหาร้ายแรงภายในประเทศ ก็อาจจะกำลังวางแผนเพื่อแสดงบทบาทอันโดดเด่นในละครภายในประเทศของไทยที่กำลังคลี่คลายเผยโฉมให้เห็นอย่างน่าตื่นเต้น
      
       พนมเปญ – การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการทำความตกลงหยุดยิงกันในสัปดาห์ที่แล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่ก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ ทั้งนี้นับแต่ที่การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธและการซัลโวกันทางการทูตระลอกล่าสุดนี้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายนเป็นต้นมา ได้มีผู้ถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อยที่สุด 17 คน และผู้คนอีกราว 50,000 คนจากทั้งสองฟากข้างของชายแดนต้องอพยพหนีภัย เวลานี้นักวิเคราะห์บางคนชักสงสัยว่า การต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อเช่นนี้อาจจะขยายตัวจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปในที่สุดก็เป็นได้
      
       เช่นเดียวกับการปะทะครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้กระตุ้นยั่วยุให้เกิดการสู้รบขึ้น ในคำแถลงเมื่อวันที่ 27 เมษายน คณะรัฐมนตรีกัมพูชาได้ประณามไทยว่า แสดงพฤติการณ์ “ก้าวร้าวรุนรานอย่างโจ่งแจ้งไร้ความละอาย” ซึ่งได้ส่งผลทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้อง “จมอยู่ในความทุกข์ยากเดือดร้อน” ก่อนหน้านั้น 1 วัน คณะรัฐมนตรีของไทยก็ได้ผ่านมติฉบับหนึ่ง ซึ่งมอบอำนาจให้ใช้ “การตอบโต้ด้วยการปฏิบัติการทางทหาร” เพื่อผลักดันกองทหารกัมพูชาให้ออกไปจากพื้นที่ที่พิพาทกัน
      
       อาจเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทราบว่าใครเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน แต่กระนั้นพวกนักวิเคราะห์จำนวนมากก็เห็นพ้องกันว่า การสู้รบคราวนี้เป็นการเติบใหญ่ขยายตัวของความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย โดยที่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกองทัพไทยที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของตน ณ จุดศูนย์กลางของการเมืองไทย ก่อนหน้าการเลือกตั้งที่คาดกันว่าน่าจะจัดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่กำลังผลักดันการตัดสินใจจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของชายแดนนั้นดูจะมีความชัดเจนน้อยกว่า เพราะในเขมรนั้น นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party หรือ CPP) ของเขา สามารถควบคุมการเมืองภายในประเทศเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาดมาตั้งนานแล้ว
      
       ตั้งแต่ที่ฝ่ายทหารของไทยก่อการรัฐประหารโค่นล้มอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2006 บุรุษเหล็กของกัมพูชาก็ได้พยายามที่จะแสดงบทบาทอันโดดเด่นในละครภายในประเทศของไทยที่กำลังคลี่คลายเผยโฉมให้เห็นอย่างน่าตื่นเต้น ด้วยการเกี้ยวพาราสีหรือไม่ก็แสดงการอาฆาตหมายหัวประดาผู้นำทางการเมืองของไทย ที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างไม่หยุดไม่นิ่ง
      
       หลายครั้งหลายคราฮุนเซนสามารถที่จะยึดครองพื้นที่กลางเวทีเอาไว้ได้ เป็นต้นว่าในตอนที่เขาแต่งตั้งทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2009 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ที่พนมเปญมีอยู่กับกรุงเทพฯไหลรูดถลำจมสู่ระดับต่ำสุดๆ ในรอบหลายๆ ปี ในเวลาเดียวกัน มีนักวิเคราะห์บางรายคาดเดาว่า ผู้นำเขมรเจ้าเล่ห์ผู้นี้กำลังหนุนหลังทักษิณและพวกตัวแทนของทักษิณในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่กำลังจะบังเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการปูพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีอันมั่นคงแนบแน่นยิ่งขึ้นในเวลาต่อไปข้างหน้า
      
       นอกจากนั้น ยังเป็นที่ชัดเจนว่าฮุนเซนมีความยินดีต้อนรับความขัดแย้งซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องกับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นโอกาสอันดีสำหรับการรณรงค์หาความสนับสนุนให้แก่ตัวเขา ตลอดจนทำให้พวกศัตรูทางการเมืองของเขามีบทบาทความสำคัญลดด้อยถอยลงไปอีก อู วิรัก (Ou Virak) ประธานของศูนย์กลางชาวกัมพูชาเพื่อสิทธิมนุษยชน (Cambodian Center for Human Rights) ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงพนมเปญรายหนึ่ง ระบุว่า ปราสาทพระวิหารที่กัมพูชากับไทยกำลังช่วงชิงกัน (โดยที่ปราสาทแห่งนี้มีพลังที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นชาติของกัมพูชาได้เฉกเช่นกับนครวัดทีเดียว) ได้กลายเป็นแหล่งที่มาแห่งทุนทางการเมืองจำนวนมากของฮุนเซนไปเรียบร้อยแล้ว
      
       ภายหลังที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ยูเนสโก) ประกาศให้ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในวันที่ 7 กรกฎาคม 2008 ถึงแม้ฝ่ายไทยได้พยายามคัดค้านแล้ว รัฐบาลกัมพูชาก็จัดแจงป่าวร้องอย่างเอิกเกริกถึง “ผลสำเร็จ” ของตน ด้วยการจัดฟรีคอนเสิร์ตอย่างใหญ่โตขึ้นที่สนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงพนมเปญ กระแสความรู้สึกรักชาติเช่นนี้เองได้ขับดันให้พรรค ซีพีพี ประสบชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งระดับชาติในเดือนนั้นเอง โดยสามารถกวาดที่นั่งมาได้ 90 ที่นั่งจากจำนวน 123 ที่นั่งของทั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) นับแต่นั้นมาภาพของปราสาทพระวิหารที่อยู่ภายใต้ธงชาติกัมพูชา ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นกันได้ทั่วไปตลอดทั่วทั้งประเทศ
      
       “ฮุนเซนเล่นกับกระแสความรู้สึกชาตินิยมได้เก่งมาก และเขาก็ได้ประโยชน์ไปมากมายในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 และนี่คือจุดเริ่มต้น” อู วิรัก กล่าว เขาชี้ต่อไปว่า ยิ่งมีการสู้รบครั้งใหม่ๆ เกิดขึ้นคราใด ชาวกัมพูชาก็มีความโน้มเอียงที่จะ “มองไปที่บุรุษเหล็กผู้นี้” เพื่อขอการปกป้องคุ้มครองมากขึ้นเท่านั้น
      
       ผู้สังเกตการณ์บางคนเสนอแนะว่า การสู้รบดังกล่าวนี้ยังกำลังสร้างโอกาสให้แก่ฮุนเซนในการเพิ่มพูนยกระดับเกียรติภูมิทางการเมืองของ ฮุน มาเน็ต (Hun Manet) บุตรชายของเขาซึ่งมีรายงานว่า ฮุนเซน กำลังเฝ้าบ่มเพาะทนุถนอมเพื่อให้กลายเป็นพันธมิตรทางทหารผู้ทรงอำนาจของเขา ตลอดจนอาจจะเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขาอีกด้วย ฮุน มาเน็ต นั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ของสหรัฐฯ และในปีนี้ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการเหล่าทหารราบของกัมพูชา (commander of the Cambodian infantry) โดยที่มีรายงานว่าเขาเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่เขาพระวิหารในช่วงที่เกิดการปะทะกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
      
       ยังไม่มีหลักฐานอันชัดเจนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำศึกระลอกล่าสุด ถึงแม้ว่าหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานไว้ในวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ฮุน มาเน็ต ได้พูดออกอากาศทางวิทยุในอำเภออันลองเวง (Anlong Veng) และอำเภอสำโรง (Samrong) ซึ่งอยู่ประชิดติดชายแดนกัมพูชา-ไทย เสนอให้ “บ้านและที่ดิน 5 ไร่” แก่ผู้ที่แสดงความจำนงเข้าเป็นทหารและทำการสู้รบกับไทย
      
       **แสนยานุภาพที่เหนือกว่า**
      
       เมื่อพิจารณาจากการที่ไทยมีความเหนือกว่าในทางทหารอย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ (ในปี 2009 กรุงเทพฯใช้จ่ายงบประมาณในทางทหารเป็นมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พนมเปญใช้จ่ายเพียง 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม Stockholm International Peace Research Institute) ฮุนเซนจึงกำลังอยู่ในสภาพเดินไต่ไปบนเส้นลวดทีเดียว โดยที่ อู วิรัก ชี้ว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาผู้นี้กำลังเล่ม “เกมที่มีการวางเดิมพันสูงมาก” กับประเทศเพื่อนบ้านผู้ทรงอำนาจ และต้องระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์ชายแดนเช่นนี้บานปลายจนหลุดออกนอกเหนือการควบคุมของเขา
      
       เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัม รังสี (Sam Rainsy) ผู้นำฝ่ายค้านที่เนรเทศตนเองไปลี้ภัยอยู่ต่างแดน ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งที่ระบุว่า กัมพูชากำลังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญศึกสงคราม เนื่องจาก “การก้าวร้าวรุกรานของประเทศไทย ผสมผสานกับการไร้ความสามารถของคณะรัฐบาลฮุนเซนในการแก้ไขความขัดแย้งทางชายแดนอย่างสันติ” ประธานของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ตั้งชื่อตามนามของเขาเอง นั่นคือ พรรคสัมรังสี กล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมานานกับประเทศไทยนี้ ได้ช่วยปกปิดอำพรางประเด็นปัญหาภายในประเทศซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องเร่งด่วนร้ายแรงมากกว่า เป็นต้นว่า การละเมิดสิทธิและการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไม่มีหยุดมีหย่อน รวมทั้งความขัดแย้งทางชายแดนกับไทยยังถูกใช้เพื่อหันเหความสนใจออกไปจากสิ่งที่สัม รังสีระบุว่าเป็นการรุกรานโดยเวียดนามตามแนวพรมแดนด้านตะวันออกของกัมพูชา
      
       “เราจักต้องไม่ยินยอมให้รัฐบาลฮุนเซนใช้ความขัดแย้งที่มีอยู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตก มาเป็นกโลบายทางการเมืองเพื่อหันเหความสนใจและความโกรธแค้นของประชาชนชาวเขมรให้ถอยออกมาจากการก้าวร้าวรุกรานของเวียดนามในด้านตะวันออก” สัม รังสี เขียนเอาไว้เช่นนี้ ผู้นำฝ่ายค้านผู้นี้ได้ถูกศาลกัมพูชาตัดสินลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 12 ปี ด้วยข้อหาต่างๆ ซึ่งมีต้นตอจากการที่เขารณรงค์เปิดโปงสิ่งที่เขาระบุว่าเป็นการรุกล้ำดินแดนของฮานอย ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูทางการเมืองของพรรค ซีพีพี มาอย่างยาวนาน
      
       อู วิรัก ยังชี้ให้เห็นปัญหาในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นคือ ฮุนเซน และพรรคซีพีพี กำลังกระทำสิ่งที่เสี่ยงเอามากๆ เมื่อคำนึงถึงว่าสิ่งที่พวกเขาจะได้รับตอบแทนกลับคืนมานั้นกำลังอยู่ในอัตราที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญมาจากการที่เวลานี้พรรคสามารถครองอำนาจในกัมพูชาได้อย่างเด็ดขาดอยู่แล้ว แถมฝ่ายค้านที่พวกเขาต้องรับมือก็กำลังเกิดการแตกแยกมากขึ้นทุกที รวมทั้งยังกำลังถูกคุกคามด้วยข้อกล่าวหาฟ้องร้องทางกฎหมายตลอดจนกลเม็ดเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง จนกระทั่งแทบไม่มีใครสงสัยเลยว่า พรรคซีพีพีจะต้องได้รับชัยชนะอย่างงดงามอีกในการเลือกระดับสภาท้องถิ่นในปีหน้า และการเลือกตั้งระดับชาติที่กำหนดจัดขึ้นในปี 2013
      
       พิจารณาจากการที่ฐานะทางการทหารโดยพื้นฐานของเขาเมื่อเทียบเคียงกับไทยแล้ว ต้องถือว่าอ่อนแอกว่ามาก ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่ในการออกมาพูดประเด็นปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา กับสาธารณชนในช่วงหลังๆ ของฮุนเซน ถึงแม้มีการใช้ถ้อยคำโวหารอันเผ็ดร้อนรุนแรงตามสไตล์ของเขา แต่ก็ผสมผสานไปด้วยข้อเสนอให้มีการเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้ง เป็นต้นว่า ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 27 เมษายน ฮุนเซนเสนอไทยให้เจรจาหยุดยิงกันในระหว่างการประชุมระดับผู้นำของสมาคมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ทว่านี่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้คำปราศรัยดังกล่าวนี้ปราศจากซึ่งคำด่าทออย่างหยาบคายต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย
      
       “ผมไม่เคยเจอนายกรัฐมนตรีไทยที่เลวร้ายเหมือนนายอภิสิทธิ์เลย เขาเป็นคนโหดเหี้ยมมาก ที่สั่งการให้โจมตีกัมพูชาและคุกคามที่จะเข้ามาควบคุมเหนือกัมพูชา” หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) อ้างคำพูดของเขาเอาไว้ในรายงานข่าว จากนั้นนายกรัฐมนตรีเขมรผู้นี้ก็จบคำปราศรัยของเขาด้วยคำเตือนในรูปของคำพังเพยว่า “กัมพูชายากจนและเป็นประเทศเล็กๆ ก็จริง แต่อาวุธของเราไม่ใช่เป็นแค่หนังสติ๊ก และอย่าลืมว่ามดนั้นก็สามารถทำให้ช้างเจ็บปวดได้”
      
       ทางด้าน พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิเคราะห์ซึ่งมีฐานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรุงเทพฯ ชี้ว่า ฮุนเซนยังอาจจะกำลังพยายามที่จะบังคับให้ไทยต้องยอมรับให้มีฝ่ายที่สามเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร โดยที่จุดมุ่งหมายสูงสุดของเขานั้นอยู่ที่การหาทางป้องกันให้โบราณสถานแห่งนี้ยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยบอกว่า จะพยายามหาทางให้มีการเพิกถอน
      
       “ดิฉันเชื่อว่าความวิตกกังวลที่เป็นเรื่องหลักของเขาเลยก็คือ การทำให้รัฐบาลไทยยุติการแทรกแซงในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทแห่งนี้ และในเรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้” เธอบอก พร้อมกับเสนอแนะว่า เรื่องนี้เองยังอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฮุนเซนแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งกันมากในคราวก่อน “เขาอาจจะเชื่อว่าตราบเท่าที่คุณอภิสิทธิ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี มันก็เป็นเรื่องยากที่กัมพูชาจะสามารถแก้ไขปัญหานี้กับไทยได้”
      
       อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงพลังทางด้านชาตินิยมที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ในทางฝ่ายไทยเวลานี้แล้ว กระทั่งถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลฝักใฝ่ทักษิณที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้สำเร็จภายหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นมา มันก็ยังไม่น่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้งทางชายแดนอยู่ดี พวงทองชี้ว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นพวกชาตินิยมนั้นกำลังเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะลงสู่ท้องถนน ถ้าหากพวกเขามองเห็นว่ารัฐบาลชุดดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องดินแดนไทย
      
       “ตราบใดที่การเมืองไทยยังคงมีการแตกขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างมากเหลือเกิน และไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยที่จะสามารถได้รับความไว้วางใจและความเคารพนับถือจากฝักฝ่ายทางการเมืองใหญ่ๆ ทุกๆ ฝ่ายแล้ว การที่จะหาทางแก้ไขข้อพิพาททางชายแดนนี้อย่างสันติ ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้สำเร็จ” เธอบอก
      
       เซบาสเตียน สแตรงจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ สามารถที่จะติดต่อเขาได้ทางอีเมล์ที่ sebastian.strangio@gmail.com.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง