บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

เมื่อฮุนเซนไม่กลัวไทย หรือเมื่ออภิสิทธิ์กลัวเขมร โดย ว.ร. ฤทธาคนี

ฮุนเซนยึดถือตำราพิชัยสงครามฉบับคลาสสิก ที่สอนให้ “โจมตีข้าศึกเมื่อกำลังจะเปลี่ยนแผ่นดิน” หรือสำนวนจีนหลายตำราว่า “อย่าเปลี่ยนม้ากลางน้ำ เพราะอันตรายใหญ่หลวงนัก” ประวัติศาสตร์หลายชาติเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการกบฏหรือการชิงเมืองเมื่อผู้นำอ่อนแอหรือมัวเมาอำนาจ ขณะกำลังจะผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน หรืออำนาจบริหาร แม้ในปัจจุบันก็ยังปรากฏอยู่
      
       เมื่อไทยประสบปัญหาภายในประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ฮุนเซนก็ไม่ปล่อยให้เสียโอกาสเฉกเช่นในอดีตที่จะแสวงประโยชน์สูงสุดจากการที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งประเทศไทย จะประกาศยุบสภา และผลพวงนี้ทำให้เกิดจุดอ่อนหลายแง่หลายมุมตามธรรมชาติของอำนาจรัฐขณะรอการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายหลักๆ ของรัฐ
      
       นายอภิสิทธิ์ กำลังเผชิญหน้ากับศึกหลายด้าน ทั้งการเมืองภายในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจทั้งเชื้อเพลิงแพง น้ำมันปาล์มขาดตลาด ไข่ หมูแพง และสงครามการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับเขมร และกำลังพ่ายแพ้ กำลังทำให้คนในชาติเสียศักดิ์ศรี และทำให้ชีวิตพลเมืองและทหารตามแนวชายแดนไทย-เขมรเสียขวัญ เสียชีวิต เสียทรัพย์ เสียโอกาสในการดำรงชีพอย่างสันติสุขและเสียโอกาสที่จะกำชัยชนะ
      
       มีข้อเขียนของ พล.อ.อ.อรุณ พร้อมเทพ อดีตเสนาธิการทหารอากาศ และเป็นนักการทหาร-รัฐศาสตร์ ที่สามารถท่านหนึ่ง ได้บรรจงถ่ายทอดแนววิเคราะห์ถึงจุดอ่อนเชิงรัฐศาสตร์การทหารของรัฐบาลนี้ หลักๆ 5 ประการ คือ
      
       1. ความเสียเปรียบของไทยหากสมาชิกรัฐสภาลงมติรับรองบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ
      
       2. ไทยไม่เคยกล้าที่จะชี้แจงว่าทหารเขมรรุกรานและยิงทหารไทยก่อน โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆ ด้วยนิ่งเฉยเสีย
      
       3. MOU 2543 เปิดโอกาสให้เขมรละเมิดอธิปไตยและทำร้ายไทยเสมอมา
      
       4. ไม่มีการแสดงจุดยืนว่าด้วยหลักผลประโยชน์แห่งชาติเหนือสิ่งอื่นใด ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กลับทำตัวเป็น NATO - No Actions, Talks Only
      
       5. รัฐบาลนี้ไม่รู้จักหลักได้อย่างเสียอย่าง แต่ยอมเสียเพื่อเสียกับเสีย ต่างจากครั้ง ร.ศ. 112 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงยอมเสียดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศทั้งหมด ก็เพราะเราไม่มีศักยภาพกำลังรบ แต่บัดนี้เรามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มาจากภาษีอากรของราษฎร รวมทั้งของพี่น้องชาวไทยจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ กลับไม่ส่งสัญญาณให้เขมรยุติการกระทำโดยเด็ดขาด
      
       รายละเอียดเหล่านี้ รัฐบาลไม่ได้เอามาเป็นสาระหลักเชิงยุทธศาสตร์ชาติเลย แต่จะใช้หลักการทูตพื้นฐานมาแก้ปัญหา ไม่เคยตั้งกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ร่วมกันพิจารณาถึงจุดอ่อนที่ไม่ใช่ความลับอะไรแล้ว กลับดำเนินการด้วยนักการทูตที่หวังเอาตัวรอดไปวันหนึ่งๆ หรือแก้ปัญหาไปแต่ละครั้งๆ เท่านั้น
      
       ความขัดแย้งยุค “การประกาศปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของเขมร” ถือว่าเป็นปมปะทะปะทุขึ้นเมื่อเขมรเสนอ UNESCO ใน พ.ศ. 2550 ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับ แต่ขอให้เขมรเปลี่ยนแผนที่ และไม่ให้ล้ำเขตไทยให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลโลก พ.ศ. 2505 ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนศาลโลกไม่ชี้ขาดจึงต้องเจรจากัน แต่สภากลาโหมมีมติประท้วงไม่ให้เขมรดำเนินการโดยลำพัง และการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของเขมร
      
       ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงประท้วงและต่อต้าน และยื่นหนังสือต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวมติ ครม.และจะแถลงร่วมกับเขมร ต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้กระทรวงการต่างประเทศ และ ครม.ยุติการดำเนินการ และให้นายนพดล ปัทมะ ยุติบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
      
       ต่อมาในปลายเดือนมิถุนายน 2552 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศของ UNESCO ที่มีมติให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะขัดต่อหลักการของสหประชาชาติ
      
       เขมรจึงแสวงหาเล่ห์และใช้ความรุนแรงด้วยการจัดฉากโจมตีไทยอย่างหนักตั้งแต่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2554 จนเรื่องลุกลามถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง และให้ตกลงกันในภาคีภูมิภาคซึ่งอาเซียนเป็นองค์กรหลักอยู่แล้ว แต่เรื่องคาราคาซังเพราะเขมรต้องการให้มีชาติในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ดำเนินการ แต่นักการทูตไทยหลายท่านรู้ทันจึงออกมาชี้แจงปัญหาปราสาทพระวิหาร การตัดสินของศาล และความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์
      
       ประกอบกับฝ่ายทหารเข้าใจถูกต้องว่า หากมีชาติที่ 3 ไม่ว่าใครก็ตามเข้ามาแทรกแซง อำนาจการปกป้องอธิปไตยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจะเป็นศูนย์ทันที จะถูกบงการโดยคณะกรรมการชาติที่ 3 และเขมรสามารถกระทำประการใดก็ได้ในการเสริมสร้างอำนาจอธิปไตยเขมรเหนือไทย และด้วยประการเช่นนี้ฝ่ายทหารจึงยอมไม่ได้
      
       เขมรจึงเปิดการโจมตีอีก ก็คือเหตุการณ์ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน จนถึงวันนี้ 28 เมษายน 2554 และนับว่าหนักกว่าทุกครั้ง ด้วยการเพิ่มอำนาจการยิงและขยายพื้นที่การโจมตี และหวังเข้ายึดแนวเนินภูมะเขือ เนินเขาสัตตะโสม ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม ซึ่งหากยึดได้ก็จะประกาศอธิปไตยเหนือพื้นที่ และเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าควบคุมพื้นที่ทันที
      
       เช่นเคยเขมรใช้ BM-21 (Boyevaya Mashina) คือแท่นยิงจรวด 40 ลำกล้อง ขนาด 122 มิลลิเมตร ติดตั้งบนรถบรรทุก 6 ล้อ เคลื่อนที่เร็ว มีอัตรายิง 2 ลูกต่อวินาที และมีรัศมียิงไกล 20 กิโลเมตร สร้างในรัสเซียและจีน ซึ่งเขมรมีครอบครอง 100 คัน หรือเท่ากับ 400 ลำกล้องยิง หรือสามารถถล่มไทย 800 ลูกต่อวินาที
      
       ทำไมรัฐบาลไทยไม่ประท้วงแสดงความโหดเหี้ยมของเขมรให้คนไทยและชาวโลกได้รับรู้ ทำไมรัฐบาลไม่กระทำการเชิงรุก ทำไมรัฐบาลไม่ขอให้รัฐสภารับฟังการกระทำโหดของทหารเขมร และทำไมรัฐบาลไม่ขอความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเขาในฐานะตัวแทนคนไทยคิดอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลไทยทำอย่างไรกับกองทัพเขมรที่ประชิดพรมแดนเพื่อหวังยึดพื้นที่ในเขตไทย แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นประชาธิปัตย์ แต่พรมแดนและอธิปไตยเป็นเรื่องของคนไทย ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง
      
       ในฐานะเป็นคนไทย จึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบความต้องการของคนไทยว่าต้องการอย่างไร และขอให้ตอบโต้อย่างสาสม เช่น BM-21 มีอำนาจการทำลายสูง เคลื่อนที่เร็ว และยิงเร็ว ก็ควรให้ฝ่ายทหารทำลายอำนาจการยิงของ BM-21 ให้ได้อย่างเด็ดขาด รวดเร็ว จึงจะยุติการการโจมตีได้ และคิดว่าต่างชาติก็คงเข้าใจ หากได้รู้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนไทย รวมทั้งรัฐศาสตร์การทูตต้องกระทำอย่างเข้มข้นและริเริ่มก่อน มิใช่เป็นฝ่ายรับ หรือ Passive Diplomatic Defense อย่างเดียว หากเป็นเช่นนี้ก็ควรจะเลิกบริหารประเทศดีกว่า และให้คนอื่นซึ่งมีทัศนคติเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใดมาบริหารแทนจะเหมาะกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง