บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

กระทรวงต่างประเทศบรรยายสรุปแก่นักข่าว กรณี ไทย-กัมพูชา

กระทรวงต่างประเทศบรรยายสรุปแก่นักข่าว กรณี ไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่29 เม.ย.54 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง การบรรยายสรุปให้แก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นไทย-กัมพูชา ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ได้บรรยายสรุปสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาให้แก่ผู้สื่อข่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ปราสาทตาควายและปราสาทตาเมือน ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารประมาณ140 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในประเทศไทย และปราสาททั้งสองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของไทยตั้งแต่ปี 2478 นอกจากนี้ หน่วยงานของไทยก็ได้ดำเนินการบูรณะหมู่ปราสาทดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่1990 ดังนั้น รายงานจากทางกัมพูชาที่ว่าไทยยิงระเบิดใส่ปราสาททั้งสองจึงไม่สมเหตุสมผล

2. ข้อเท็จจริงคือ ไทยไม่เคยเป็นฝ่ายริเริ่มการปะทะกับกัมพูชา ไทยไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะกระทำเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการค้าการลงทุนของไทยในกัมพูชา ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ที่มีมาโดยตลอดของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือกัมพูชา และส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน

3. อย่างไรก็ตาม หากถูกโจมตี ไทยก็จำเป็นต้องปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือเดินแดนของไทยตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นไปอย่างสมน้ำสมเหนือ โดยมุ่งตอบโต้เฉพาะเป้าหมายทางทหารและพยายามอย่างที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อบริเวณที่พลเรือนอยู่ ในการนี้ มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้ง กัมพูชาได้ยิงอาวุธจากบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่เข้ามายังไทย ซึ่งไทยก็ได้ยับยั้งที่จะไม่ตอบโต้ไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือน แนวปฏิบัติในการใช้พลเรือนเป็นเหมือน “โล่มนุษย์” นี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และประชาคมระหว่างประเทศควรตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

4. ก่อนเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 22 เมษายน ได้มีความคืบหน้าที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ที่เมืองโบกอร์ อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน 2554 และการหารือเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) สำหรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียที่จะส่งมายังบริเวณชายแดนฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ดังนั้น การโจมตีเมื่อวันที่ 22 เมษายนจึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ไทย และนับตั้งแต่บัดนั้น ไทยก็ได้เรียกร้องให้กัมพูชากลับมาเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งด้วยการหารือกันโดยสันติ

5. สำหรับการพบปะระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทยกับกัมพูชานั้น แม้ว่าไทยจะต้องการให้การพบปะดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้แสดงความจริงใจที่จะยุติการโจมตี ขณะที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวว่าพร้อมที่จะพูดคุย แต่การโจมตีก็ยังดำเนินอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ ในกัมพูชา ยังมีการบิดเบือนและสร้างประเด็นจากข้อเสนอการเยือนดังกล่าว โดยให้ภาพว่าฝ่ายไทยจะไปเยือนกัมพูชาเพื่อขอให้หยุดยิงเนื่องจากฝ่ายไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก อย่างไรก็ดี ไทยหวังว่าการพบปะระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่ายจะมีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

6. เกี่ยวกับเรื่องผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียนั้น อันที่จริงแล้ว การส่งผู้สังเกตการณ์มายังพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารเป็นข้อริเริ่มและเป็นไปตามคำเชิญของไทยเอง การตัดสินใจในเรื่องนี้มีขึ้นในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งจัดขึ้นสองวันก่อนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น ก็มีการหารือเกี่ยวกับ TOR หน้าที่สำหรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเรื่อยมา ทั้งนี้ โดยที่ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด กระบวนการปรึกษาหารือของไทยก็อาจใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ของ TOR ดังกล่าวก็ตกลงกันได้แล้ว เหลือเพียงประเด็นทางเทคนิคเล็กน้อย เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย เป็นต้น

7. เป็นที่น่าเสียใจที่มติของคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ถูกนำไปบิดเบือนโดยการแถลงข่าวของฝ่ายกัมพูชาที่อ้างว่าเป็นการประกาศสงคราม ในความเป็นจริงแล้ว มติคณะมนตรีดังกล่าวมี 3 ประเด็น ได้แก่ (๑) หากถูกโจมตี ประเทศไทยก็จะตอบโต้เป็นการป้องกันตนเอง เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนตามกฎหมายระหว่างประเทศและตามความเหมาะสม (2) ประเทศไทยจะดำเนินความพยายามทางการทูตเพื่อขอการสนับสนุนจากมิตรประเทศในการเรียกร้องให้กัมพูชากลับสู่โต๊ะเจรจา เนื่องจากประเด็นเกี่ยวกับชายแดนควรได้รับการหารือและแก้ไขโดยสันติผ่านการเจรจา และ (3) ขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทบทวนดูสถานะความสัมพันธ์กับกัมพูชาเพื่อที่รัฐบาลจะได้มีภาพที่ชัดเจนของสถานภาพของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

8. สำหรับการพบปะพูดคุยระหว่างแม่ทัพภาคที่ 2 ของไทยกับผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศได้หารือกันทางโทรศัพท์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเสนอรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาของฝ่ายตนให้มีการยุติการปะทะ และสำหรับพื้นที่ที่ยังคงมีการยิงปะทะกันอยู่ ก็จะให้หัวหน้าหน่วยในพื้นที่หารือกันเพื่อยุติการปะทะโดยเร็ว อีกประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกคือ การเปิดจุดผ่านแดนที่ต้องปิดลงเป็นการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีการตอบยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่แถลงการณ์ของฝ่ายกัมพูชาที่ออกมาในเรื่องนี้ก็ถือเป็นสัญญาณคืบหน้าที่ดี

9. ต่อคำถามที่ว่าเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนครั้งล่าสุดนี้จะส่งผลกระทบต่อวันเลือกตั้งหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแล้วว่าจะยังคงดำเนินการตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้สำหรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง