บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

รายละเอียดหนังสือยื่นอุทธรณ์คุณวีระและคุณราตรี วันที่ 1 มีค 54


รายละเอียดหนังสือยื่นอุทธรณ์คุณวีระและคุณราตรี วันที่ 1 มีค 54
วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2011 เวลา 10:22 น.

อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น วันที่      ๑  มีนาคม ๒๐๑๑
ตามคำพิพากษาคดีอาญาที่ ๑๒ กร. ๒ "ธ" ลงวันที่ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ของศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญ ที่ได้ทำการเปิดศาลที่ห้องพิจารณาคดี ณ ศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ เพื่อพิจารณาตัดสินจำเลย
๑. ชื่อ วีระ สมความคิด (VEERA SOMKWAMKID) เพศชาย อายุ ๕๓ ปี สัญชาติไทย ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๗๕ ถนนเสรีไทย หมู่บ้านนวธานี เขตคันนายาว กรุงเทพฯ ประเทศไทย ศาสนาพุทธ อาชีพเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น พ่อหม้าย"หย่าร้าง"ไม่มีลูก บิดาชื่อ ประยงค์ สมความคิด "เสียชีวิต"  มารดาชื่อวิไลวรรณ สมความคิด  "ยังมีชีวิต" เป็นนิติชน โทษแต่ก่อนไม่มี จับกุมตัวในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๐๑๐ คุมขังตัววันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๐๑๐ และคุมขังตัวเพิ่มวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๐๑๑
๒. ชื่อ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ (RATREE PIPUTANAPAIBOON) เพศหญิง อายุ ๕๐ ปี สัญชาติไทย มีภูมิลำเนา บ้านเลขที่ ๙๙ ถนนสุขุมวิท จังหวัดสมุทรปราการ  ประเทศไทย  ศาสนาพุทธ อาชีพค้าขาย สถานภาพโสด บิดาชื่อ ไพโรจน์ "ยังมีชีวิต"  มารดาชื่อ ประนอง "ยังมีชีวิต" เป็นนิติชน โทษแต่ก่อนไม่มี  จับกุมตัวในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๐๑๐ คุมขังตัววันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๐๑๐ อยู่นอกการคุมขังวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๐๑๑ คุมขังตัวใหม่ วันที่ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑
ข้อหา  -  ลักลอบเข้ามาในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชาโดยไม่ได้รับอนุญาต
-  เข้ามาโดยทุจริต ในลานพื้นที่ทหาร
-  มุ่งหมายรวบรวมข้อมูลที่อาจทำให้อันตรายในการป้องกันประเทศ
กระทำ ณ จุดเกิดเหตุ ๕๑๙๖๖-๒๒๒๗๑ ในภูมิประเทศ หมู่บ้านโชคชัย ตำบลโอไบแจน อำเภอโอจะโรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๐๑๐ ตามมาตรา ๒๙ ของกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง และมาตรา ๒๗, ๔๗๓, ๔๓๙, ๔๔๖ ของกฎหมายอาญา
วินิจฉัยความ
๑. ลงโทษ
 ก. ชื่อ วีระ สมความคิด (VEERA SOMKWAMKID) เพศชาย อายุ ๕๓ ปี สัญชาติไทย ให้จำคุกกำหนดเวลา  ๐๘ ปี (แปดปี) และปรับเป็นเงินจำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ เรียล (หนึ่งล้านแปดแสนเรียล) ให้จ่ายเข้าเป็นงบประมาณของรัฐ
 ข. ชื่อ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ (RATREE PIPUTANAPAIBOON)  เพศหญิง อายุ ๕๐ ปี สัญชาติไทย ให้จำคุกกำหนดเวลา ๐๖ ปี (หกปี) และปรับเป็นเงินจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ เรียล (หนึ่งล้าน สองแสนเรียล) ให้จ่ายเข้าเป็นงบประมาณของรัฐ
๒. สั่งให้คุ้มขังตัว ชื่อ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ (RATREE PIPUTANAPAIBOON) เพศหญิง อายุ ๕๐ ปี สัญชาติไทย ทันทีในเรือนจำ ม.๒ เปรย์ซอว์ ของกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๓๕๓ ของกฎหมายนิติวิธีอาญา
๓.  สิ่งของที่ยึด ส่วนหนึ่งให้ยึดเป็นสมบัติของรัฐ ตามมาตรา ๖๒, ๖๓, ๔๗๖ และ ๕๔๐ ของกฎหมายอาญา อีกส่วนหนึ่งให้ส่งคืนเจ้าของเดิม ตามมาตรา ๓๕๔ ของกฎหมายนิติวิธีอาญา รายละเอียดปรากฏในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญแล้ว
๔. คำพิพากษานี้ ทำการพิพากษาไต่สวน และประกาศเป็นสาธารณะ ในวันที่ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ต่อหน้าจำเลย และทนายของจำเลย   ให้สิทธิฟ้องอุทธรณ์ได้ตามกำหนดของกฎหมาย
 จำเลยทั้งสองคนไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วยเหตุที่คำพิพากษาดังกล่าว ยังคลาดเคลื่อนต่อปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอยู่มาก จำเลยทั้งสองคนจึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังจะได้กราบเรียนต่อไปนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๐๑๐ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐น จำเลยทั้งสองคนกับพวกรวม ๗ คน ได้ร่วมกันเดินทางไปทำการตรวจสอบที่ดินตามคำร้องทุกข์ของประชาชนซึ่งได้ทำประโยชน์เรื่อย มา และมีเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่บัดนี้ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ เพราะถูกยึดครองโดยเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวกัมพูชา ในบริเวณทุ่งนา หมู่ที่ ๓ บ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ได้เข้าไปเพื่อทำการตรวจสอบในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย บริเวณหลัก เขตแดนไทย-กัมพูชา หลักที่ ๔๖ และ ๔๗ ปรากฏตามแผนที่เกิดเหตุที่ถูกต้องแนบท้ายอุทธรณ์นี้
ในระหว่างที่จำเลยกับพวกกำลังตรวจพื้นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยและยังไม่ถึงหลักเขตแดนที่ ๔๖ ได้มีทหารกัมพูชาหลายนาย พร้อมอาวุธบุกเข้ามาจับกุม และควบคุมตัว จำเลยกับพวก รวม ๗ คน
ในการจับกุมตัวครั้งนี้ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชา เป็นการจับกุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้ควบคุมตัวไปที่ป้อมทหารข้างสระน้ำ เดิมเป็นค่ายอพยพบ้านหนองจาน (UNHCR) ซึ่งเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาได้นำตัวจำเลยกับพวกรวม ๗ คน ไปกรุงพนมเปญ แล้วทำการสอบสวนโดยมิชอบและตั้งข้อกล่าวหาทางอาญาอันเป็นเท็จ
 จำเลยกับพวก เป็นผู้บริสุทธิ์ภายใต้กฎหมายไทย และกฎหมายกัมพูชา เพราะจำเลยกับพวกอยู่ในดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้ข้ามเขตไปในดินแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา การที่จำเลยกับพวก ต้องข้ามเขตแดนและเข้าไปในเขตทหาร เพราะเจ้าหน้าที่กัมพูชาบังคับควบคุมตัวพาเข้าไปเอง จนกระทั่งพาไปถึงกรุงพนมเปญ ถึงเรือนจำเปรย์ซอว์ และศาลกรุงพนมเปญ
 การกระทำของจำเลยกับพวก จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของกัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลกัมพูชา ไม่มีอำนาจใน การจับกุม ควบคุมตัว และสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาทางอาญา อีกทั้งศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญ อันเป็นอำนาจตุลาการของราชอาณาจักรกัมพูชา ไม่มีความสามารถในการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ เพราะอยู่นอกราชอาณาจักรกัมพูชา
๒. ศาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญ โดยปราศจากการพิสูจน์ตามข้อกฎหมายว่า รัฐกัมพูชาจะสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของตน หรือกฎหมายระหว่างประเทศเช่น กฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการรุกรานต่อประเทศไทย สนธิสัญญาเจนีวา ฉบับที่ ๔ (The Fourth Geneva Convention of 1949 ) ตามสารแนบท้ายสนธิสัญญา ในข้อ ๒ ค.ศ. ๑๙๗๗ ที่เป็นภาคผนวกสนธิสัญญา นี้ ในบทบัญญัติที่ ๖๓ , ๖๘ , ๖๙ และ ๗๑ ประเทศกัมพูชาได้ประกาศเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๘ เป็นการกระทำที่มุ่งฝ่าฝืนต่อสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเรือน และสิทธิในทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๖๖ สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. ๑๙๖๖ สนธิสัญญาว่าด้วยการขจัดการล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ สนธิสัญญาว่าด้วย การจัดการทรมาน การกระทำที่มีเจตนาร้ายที่จะลดคุณค่าความเป็นคนลง การลงโทษที่ผิดมนุษย์ ค.ศ. ๑๙๗๔ การฝ่าฝืนต่อสนธิสัญญาเหล่านี้ อย่างร้ายแรงนั้น โลกทั้งโลกประณาม และถือว่าเป็นความเป็นความผิดอาญาที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญา กรุงโรม ค.ศ. ๑๙๙๘ มีผลบังคับเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๑  ที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในบทบัญญัติที่ ๕ , ๖ และ ๗
รัฐธรรมนูญกัมพูชา มาตรา ๓๑ ที่บัญญัติไว้ว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา ยอมรับและเคารพสิทธิมนุษยชนดังบัญญัติไว้ ในธรรมนูญขององค์กรสหประชาชาติ คำประกาศเป็นสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และกติกาสัญญา พร้อมทั้งอนุสัญญาทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
๓. จำเลยกับพวก เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ในราชอาณาจักรไทย เป็นการไปในเวลากลางวัน กระทำโดยเปิดเผย เดินเข้าไปในหมู่บ้าน มีการพบปะพูดคุยกับประชาชนโดยทั่วไป ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้น หรือกระทำตัวหลบๆ ซ่อนๆ แต่อย่างใด แสดงให้เห็นเจตนาบริสุทธิของจำเลยกับพวก ว่าไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่ประการใด
๔. ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ตามสนธิสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ได้มีการปักปันเขตแดนกันเสร็จสิ้นแล้ว นับจากช่องสงำ ที่อำเภอกันทราลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปทางด้านทิศตะวันออกจนสุดเขตที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้ใช้สันปันน้ำ และหน้าผาของเทือกเขาพนมดงรัก และนับจากช่องสงำให้เป็นหลักเขตที่ ๑ เรื่อยมาทางด้านทิศตะวันตก ตลอดแนวที่จังหวัดสุรินทร์ , บุรีรัมย์ , สระแก้ว , จันทบุรี และ จังหวัดตราด ตามลำดับ เป็นจำนวนทั้งหมด ๗๓ หลักเขตแดน ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑ และ ๒
คดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชาฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้มีคำพิพากษาเมื่อ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๙๖๒ พิพากษาในประเด็นปราสาทพระวิหาร การถอนทหาร การคืนสิ่งประติมากรรมเท่านั้น ไม่ได้พิพากษาในประเด็นเรื่องแผนที่ และเส้นเขตแดน เพราะเขตแดนไทย-กัมพูชาในตอนนี้ มีความชัดเจนแล้ว ตามสันปันน้ำและหน้าผาของเทือกเขาพนมดงรัก ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๓
ได้มีบันทึกความเข้าใจ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU 2000) และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วม  (TOR 2003) ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๔ , ๕ และ ๖ ตามลำดับ จึงได้เกิดมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)
เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๐๘ ได้มีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ตามการเสนอของราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อองค์การยูเนสโก ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๗  ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางแห่งราชอาณา จักรไทย ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๐๐๙ ให้เพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๘
คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ได้มีการร่วมกันสำรวจค้นหาหลักเขตแดน ตั้งแต่หลักเขตที่ ๑ ถึงหลักเขตที่ ๗๓ รวมทั้งพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร บันทึกการประชุมและข้อตกลงของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ที่เสียมราฐ , กรุงเทพ และกรุงพนมเปญ ทั้งสามฉบับ ยังไม่ผ่านมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไทย ยังใช้บังคับไม่ได้ ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๙, ๑๐ , ๑๑ , ๑๒ และ ๑๓ ตามลำดับ
บันทึกความเข้าใจฯ (MOU 2000) ข้อกำหนดฯ (TOR 2003) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ขณะนี้กำลังถูกต่อต้านและคัดค้านจากประชาชนไทยอย่างหนัก เพื่อให้รัฐบาลไทย ทำการยกเลิกเพิกถอนทั้งหมด ดังตัวอย่าง ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑๔ และ ๑๕
โดยเฉพาะ ในกรณีของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) พบว่า มีอุปสรรคและปัญหาของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ไม่สามารถตกลงกันได้จำนวน ๑๑ หลัก คือ หลักเขตแดนที่ ๒๘ , ๓๓ , ๓๔ , ๓๕ , ๓๖ , ๓๘ , ๓๙ , ๔๒ , ๔๖ , ๔๗ และ ๔๘ ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑๖
๕. พื้นที่เกิดเหตุคดีนี้ อยู่ในบริเวณทุ่งนา หมู่ที่ ๓ บ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ระหว่างหลักเขตแดนที่ ๔๖ และ ๔๗ พื้นที่นี้ประชาชนไทยได้ร้องทุกข์ว่า ตนเองมีที่นา มีหลักฐานเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำประโยชน์มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย หลายสิบปีแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณปี ค.ศ. ๑๙๗๙ กัมพูชาเกิดเหตุภัยสงคราม ประชาชนกัมพูชาอพยพหนีภัยสงครามไปอาศัยในเขตแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี ถึงจังหวัดตราด มีความยาวประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร แล้วพากันตั้งเป็นชุมชนกัมพูชา หลายชุมชน มีจำนวนนับแสนคน
สหประชาชาติได้ขอความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้ให้การช่วยเหลือ โดยจัดพาประชาชนข้ามเข้ามาในเขตแดนไทยแล้วจัดตั้งชุมชนเป็นศูนย์อพยพ เพื่อความปลอดภัยและการควบคุมดูแล ให้ความช่วยเหลือจะได้สะดวกครบถ้วน ศูนย์อพยพตลอดแนวชายแดนมีเป็นจำนวนมากหลายสิบศูนย์
พื้นที่เกิดเหตุคดีนี้ คือบริเวณทุ่งนาของประชาชนไทยบ้านหนองจาน ที่นาของนายเข็ม แพงแลงนูน ต่อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเบ พูลสุข มีเอกสารหลักฐานกรรมสิทธิ์ เป็นพื้นที่จำนวน ๓๗,๔๐๐ ตารางเมตร (๓.๗๔ เฮกต้าร์) โดยมีทิศใต้จดหลักเขตแดนประเทศกัมพูชา หลักที่ ๔๖  ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑๗
 ที่นาของนายหมา อันสมศรี มีเอกสารหลักฐานกรรมสิทธิ์ เป็นพื้นที่จำนวน ๗๖,๘๐๐ ตารางเมตร (๗.๖๘ เฮกต้าร์) อยู่ใกล้กับหลักเขตแดนที่ ๔๗ ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑๘ เดิมทำนาและได้ขุดสระในที่นาไว้ใช้ประโยชน์ ต่อมาเมื่อสหประชาชาติโดยรัฐบาลไทยได้ขอใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าว เป็นสถานที่สำหรับเป็นสำนักงาน ที่เก็บสิ่งของ เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค อุปกรณ์เครื่องใช้ และเป็นที่สำหรับไว้แจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ให้แก่ศูนย์อพยพที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง พื้นที่ดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ของศูนย์อพยพไปด้วย เดิมทีสระน้ำมีขนาดเล็ก สหประชาชาติจึงตั้งงบประมาณขุดขยายเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้สอย ดังปรากฏตามภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่เกิดเหตุที่ถูกต้องที่แนบท้ายอุทธรณ์นี้
 ในการจัดตั้งศูนย์อพยพและศูนย์แจกจ่ายสิ่งของนี้ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันมิให้ประชา ชนชาวเขมรอพยพหลบหนีออกจากศูนย์ ทางการไทยและสหประชาชาติได้จัดทำรั้วเป็นเสาคอนกรีตใส่ลวดหนามกั้นเป็นแนวยาวตลอดแนว ด้านหลังของศูนย์อพยพซึ่งอยู่ในพื้นแผ่นดินไทย แม้แต่ศูนย์อพยพก็อยู่ในพื้นแผ่นดินไทย รั้วลวดหนามดังกล่าว ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่บ้างโดยเหลือเพียงเสาคอนกรีต ดังปรากฏตามภาพวีดีโอ ไม่ใช่เสาเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่อย่างใด เพราะหลักเขตแดนที่ถูกต้องในพื้นที่นี้ คือ หลักที่ ๔๖ และ ๔๗
 ศูนย์อพยพบ้านหนองจาน เมื่อหมดภัยสงคราม ประชาชนและทหารกัมพูชาก็ยังคงยึดครองอยู่จนปัจจุบันนี้ แล้วตั้งชื่อว่า หมู่บ้านโชคชัยตามที่เกิดเหตุในคดีนี้
 นายธิติพัธท์ เสมาทอง เป็นบุตรเขยของนายหมา ผู้เป็นเจ้าของที่นา ได้มาเบิกความเป็นพยานคนที่ ๒ ของจำเลยที่ศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ด้วย
 ประชาชนไทยที่มีที่นาในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถเข้าไปทำนาได้ และได้ร่วมกันกับนายเบฯ ,นายธิติพัธท์ฯ ร้องทุกข์โดยตนเอง มีเอกสารหลักฐานกรรมสิทธิ์ เช่น นางเรื่อย กันพวก , นางประมวล สวมไธสงค์ , นางสมใจ เสมาทอง , นายหยุย คำภา , นางบุดสดี ศรีเพีย ,นายสมาน แสงแก้ว เป็นต้น ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๑๙
๖. จากการร้องทุกข์ของประชาชนดังกล่าว     เมื่อวันที่    ๒๐   สิงหาคม  ๒๐๑๐    นายวีระ      
สมความคิด จำเลยที่ ๑ คดีนี้ พร้อมกับพวกรวม ๕ คน ซึ่งมีนายโชคพิสิทธิ์ วรพัฒนาชัย และ           นายธิติพัธท์ฯ ที่เป็นพยานของจำเลยคนที่ ๑ คนที่ ๒ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย  เป็นองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนไทย ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีการทุจริตแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ราชการไทยหรือไม่ มีการปล่อยให้ประชาชนและทหารกัมพูชาเข้ามายึดครองแผ่นดินไทยหรือไม่  ในขณะกำลังตรวจสอบอยู่บริเวณทุ่งนาของนายเบฯ ได้มีทหารกัมพูชาเข้ามาจับควบคุมตัวแล้วพาเข้าไปที่ค่ายทหารกัมพูชาใกล้กับสระน้ำที่สหประชาชาติขุดขยาย โดยได้จัดทำบันทึกและถ่ายภาพ ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๒๐ และ ๒๑
ในการนี้ นายวีระ สมความคิด ได้แจ้งความร้องทุกข์ว่าทหารกัมพูชาร่วมกันใช้อาวุธสงครามทำการจับกุมและลักพาตัวนายวีระฯ กับพวกรวม ๕ คน ซึ่งอยู่ในแผ่นดินไทย และนำตัวเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา ทำให้ตนเองต้องสูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพ และเกิดความเสียหาย ปรากฏตามเอกสารแนบ หมายเลข ๒๒
๗. ในคดีนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๐๑๐ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น นายพนิจ วิกิตเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย โดยความเห็นชอบของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย โดยการประสานงานของนายแซมดิน เลิศบุศย์ ทำให้นายวีระฯ น.ส.ราตรีฯ จำเลยทั้งสองในคดีนี้ ได้ร่วมเดินทางเข้ามาในพื้นที่เกิดเหตุ ปรากฏตามภาพถ่ายวีดีโอที่โจทก์นำเสนอต่อศาล
 เมื่อนายพนิจฯ กับพวกรวม ๗ คน เดินลงจากรถยนต์เข้ามาในบริเวณทุ่งนา แล้วตามภาพวีดีโอนายพนิจฯ ได้จับเสารั้วคอนกรีตนั้น เป็นเสารั้วคอนกรีต เดิมใช้กั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนกัมพูชาในศูนย์อพยพหนีออกจากศูนย์ ดังได้อธิบายไว้แต่ต้น ไม่ใช้หลักแดนไทย-กัมพูชา ตามที่โจทก์กล่าวหา
 เมื่อเดินข้ามทุ่งนามาแล้ว ได้ขึ้นมาที่ถนนแล้วเลี้ยวขวา มาพบกับผู้หญิงและได้ยืนพูดคุยกัน ต่อจากนั้น มาถึงทางแยกได้เลี้ยวซ้ายเพื่อมุ่งหน้าเข้าไปยังหมู่บ้าน นายพนิจฯ นายวีระฯ ได้พูดคุยและชี้มือไปที่คอกวัว และได้พูดคุยเรื่องวัว ต่อจากนั้นเดินไปถึงร้านค้าใกล้ทางแยก ซึ่งขายน้ำมัน และสิ่งของ พวกของจำเลยได้แวะไปซื้อน้ำดื่ม บริเวณนี้มีป้ายพรรคประชาชนกัมพูชาที่โจทก์กล่าวอ้าง
 เมื่อเดินไปถึงหน้าบ้านหลังเล็กและมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ข้างๆ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาขี่รถมอร์เตอไซค์เข้ามา พร้อมเรียกกำลังเพิ่มเติมของตน แล้วทำการจับควบคุมตัวนายพนิจฯ นายวีระฯ น.ส.ราตรีฯ กับพวกทั้งๆที่อยู่ในพื้นแผ่นดินไทย ปรากฏตามภาพถ่ายทางอากาศแผนที่เกิดเหตุที่ถูกต้อง ทหารกัมพูชาได้ควบคุมตัวพาเข้าไปในค่ายทหารใกล้สระน้ำเอง โดยนายวีระฯ น.ส.ราตรีฯ  กับพวกไม่ได้สมัครใจไป จึงไม่ได้เป็นการข้ามเข้าไปในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา ตามที่โจทก์กล่าวหาในข้อหาที่ ๑ และไม่ได้เป็นการเข้าไปโดยทุจริตในลานพื้นที่ทหาร ตามที่โจทก์กล่าวหาในข้อหาที่ ๒ และไม่ได้มุ่งหมายรวบรวมข้อมูลที่อาจทำให้เป็นอันตรายในการป้องกันประเทศ ตามที่โจทก์กล่าวหาในข้อหาที่ ๓ แต่อย่างใด
๘. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาทำการจับควบคุมตัวจำเลยทั้งสอง และพวก ในเบื้องต้นได้ทำการยึดโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายวีดีโอ จากทุกคน แล้วต่อมาในวันรุ่งขึ้นทหารกัมพูชาได้บอกให้ทุกคนนำสิ่งของที่ตนมีอยู่ทั้งหมดที่ติดตัวมา ใส่ในถุงพลาสติกที่ทหารแจกให้คนละหนึ่งถุง โดยไม่ให้ปะปนกัน
น.ส. ราตรีฯ ก็ได้นำสิ่งของทั้งหมดของตนเอง ใส่ไปในถุง แล้วมอบให้เจ้าหน้าที่ทหารไป โดยเปิดเผย สุจริตใจ ไม่ต้องมีใครค้นตัว ซึ่งมีกล้องถ่ายภาพและเทปบันทึกเสียงขนาดเล็ก ที่โจทก์กล่าวอ้างตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ข้อหาที่ ๓ รวมอยู่ด้วย เห็นได้ว่า น.ส. ราตรีฯ กระทำโดยเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นแต่อย่างใด ที่สำคัญนับตั้งแต่ถูกควบคุมตัว น.ส. ราตรีฯ ก็ไม่ได้ถ่ายภาพ หรือบันทึกเสียง แต่อย่างใดทั้งสิ้น อัยการโจทก์ได้พยายามตั้งข้อกล่าวหานี้ ทนายความจำเลยได้เรียกร้องให้โจทก์นำเสนอ และส่งภาพถ่ายหรือบันทึกเสียงที่เป็นอันตรายต่อการป้องกันประเทศ ตามที่โจทก์กล่าวหาต่อศาล แต่ปรากฏว่า โจทก์ก็ไม่สามารถมีพยานหลักฐาน เอกสาร ภาพถ่ายเพิ่มเติม มานำเสนอต่อศาลแต่อย่างใด มีเพียงภาพถ่ายวีดีโอที่จำเลยถ่ายไว้เอง และภาพการเดินทางเท่านั้น
อุปกรณ์ถ่ายภาพและบันทึกเสียงขนาดเล็ก มีขายตามร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทกล้องถ่ายภาพ กล้องวีดีโอ เครื่องเสียงต่างๆ โดยทั่วไป ซึ่งหาซื้อได้โดยทั่วไป บุคคลทั่วไปสามารถมีไว้ในครอบครองได้ มิใช่เป็นเรื่องพิเศษแต่ประการใด
๙. จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญกัมพูชา รวมทั้งสิทธิมนุษยชน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
จำเลยทั้งสองมีสัญชาติไทย ใช้ภาษาไทย ไม่สามารถเข้าใจ พูด สื่อสาร ในภาษาเขมรได้ จำเลยทั้งสอง เห็นว่า ล่ามที่มีอยู่ในการพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างครบถ้วน จึงมีปัญหาอย่างมากในการพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองจึงขอเปลี่ยนล่ามต่อศาล จำเลยทั้งสองมีและจัดหาล่ามเอง โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง ซึ่งล่ามนี้ก็เป็นคนกัมพูชา และได้ไปเข้าร่วมอยู่ในห้องพิจารณาคดีและปรากฏตัวต่อหน้าศาลแล้ว ไม่ทำให้เสียเวลาในการพิจารณาคดีแต่ประการใด กลับเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีเป็นอย่างมาก แต่ปรากฏว่า ศาลไม่อนุญาต จึงเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างมาก
แผนที่ที่โจทก์ใช้กล่าวอ้างมาฟ้องคดี โจทก์อ้างว่า ได้จำลองมาจากแผนที่มาตราส่วน ๑ :   ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งแผนที่ดังกล่าว ไม่มีฝ่ายใดรับรอง สยามประเทศ หรือประเทศไทย ไม่เคยได้รับรองแผนที่ดังกล่าวนี้เลย ประกอบกับรัฐธรรมนูญกัมพูชา มาตรา ๒ บัญญัติว่า บูรณภาพภาพดินแดนของราชอาณาจักรกัมพูชาไม่อาจถูกละเมิดได้เด็ดขาด ในเขตแดนของตนที่มีกำหนดในแผนที่ขนาดมาตราส่วน  ๑ : ๑๐๐,๐๐๐  ทำในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๓ - ๑๙๕๓ และที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๖๓ - ๑๙๖๙ แผนที่ของโจทก์อ้างจึงขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเสียเอง
ที่สำคัญแผนที่ที่โจทก์อ้างผิดจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก ทั้งหลักเขตที่ ๔๖ และ ๔๗ , พื้นที่ในหมู่บ้าน ทางเดิน สระน้ำ ค่ายทหาร ที่ถูกต้องคืออยู่ในพื้นแผ่นดินไทย ไม่ใช่อยู่ในเขตแดนกัมพูชา
แผนที่ที่ถูกต้องคือ แผนที่ที่จำเลยทั้งสองได้เสนอต่อศาลชั้นต้น และได้แนบมาท้ายอุทธรณ์นี้ จำเลยทั้งสองได้เสนอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลตรวจพิสูจน์ความถูกต้องของหลักเขตแดน สถานที่เกิดเหตุจริง โดยการเดินเผชิญสืบ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำเลยทั้งสองจะเป็นผู้ใช้จ่ายเอง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ทั้งที่แผนทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน
ในการนี้ ก่อนพิจารณาพิพากษาคดี ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดตรวจพิสูจน์ โดยการเดินเผชิญสืบ ในที่เกิดเหตุจริง โดยจำเลยทั้งสองยินดีชำระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จำเลยทั้งสองกับพวกจึงอยู่ในพื้นแผ่นดินไทยตามแผนที่นี้ ไม่ได้ข้ามเข้ามาในเขตราชอาณาจักรกัมพูชา จำเลยทั้งสอง จึงไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณา แล้วมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์
ขอศาลอุทธรณ์ได้รับความนับถืออย่างสูงสุดจากข้าพเจ้า
ลงชื่อ............................................ จำเลยที่ ๑     ลงชื่อ ...........................................จำเลยที่ ๒
 ( นายวีระ สมความคิด )                                                                    ( น.ส. ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง