บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

"ราชประชาสมาสัย" โดย พันเอกหญิง ชดาษา พนาเวศร์

จริง "ราชประชาสมาสัย" โดย พันเอกหญิง ชดาษา พนาเวศร์

รู้มา เล่าไป ขยายต่อ…..นับเป็นความโชคดีของคนไทย........โดยพันเอหญิงชดาษาพนาเวศร์
นับเป็นความโชคดีของคนไทย  ที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นหลายครั้งหลายหน ถึงขั้นวิกฤต  บ้านเมืองหาทางออกไม่ได้   ในที่สุด พระมหากษัตริย์ทรงใช้นิติราชประเพณีที่เคยมีมาในอดีต  มาปรับใช้กลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจอย่างหนึ่งส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆของบ้านเมืองให้ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี   ดังกรณี เหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕  พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้พระบารมี  พระเมตตา พระปรีชาญาณ ตลอดจนอาศัยความจงรักภักดีของประชาชน เข้าแก้ไขสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อยลงได้  พระองค์พระราชทานพระราชดำรัสกับทุกฝ่าย ว่า  "…ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว"    เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นที่คนไทยปะทะกัน  มีการสูญเสียเลือดเนื้อ  แต่ทั้ง 2 ครั้งก็สงบลงได้เพราะพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ที่ได้สั่งสมความเชื่อมั่น ความเป็นประมุขที่แท้จริง ตามนิติราชประเพณี     ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองมีสิ่งบอกเหตุว่า กำลังจะเกิดหรือมีเค้าลางว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งยากที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะเป็นฝ่ายเข้ามาแก้ไข  คนไทยส่วนใหญ่จึงยังคงคาดหวังว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปกป้องคุ้มกันและทำให้วิกฤตการณ์นั้นๆผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเช่นที่เคยเป็นมา
                วัฒนธรรมอำนาจแบบไทย ๆ เช่นนี้สามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้จากนิติราชประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และคนไทย กล่าวคือคนไทยทั้งประเทศมีความสำนึกร่วมกันว่า พระมหากษัตริย์ของไทยเกือบทุกพระองค์เป็นประดุจบิดาที่คอยปกป้องคุ้มครองชีวิตของตนเอง ความรู้สึกเช่นนี้ยังฝังแน่นอยู่ในสายเลือดของคนไทย จนเกิดความผูกพันอันแน่นแฟ้นที่คนไทยจะขาดเสียซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้   และที่น่าประทับใจยิ่งของปวงชนชาวไทย ก็คือ  นิติราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงถือเอาราษฎรเป็นสำคัญ  ได้เป็นมรดกตกทอดกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ถือเป็นหลักการปกครองราษฎรโดยไม่ได้ทรงยึดมั่นและผูกขาดอยู่ในพระราชอำนาจเด็ดขาดที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอยู่  ต้องยอมรับว่า นิติราชประเพณีที่ถือเอาราษฎรเป็นสำคัญนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเท่านั้น
“ราชประชาสมาสัย” เป็นแบบอย่างและกลายเป็นสัญลักษณ์ของความใกล้ชิดผูกพันกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนได้เป็นอย่างดี    สืบเนื่องจากในห้วงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคต่างๆ ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วยโรคเรื้อนและยังเป็นที่รังเกียจของสังคมทั่วไป  พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรของพระองค์ท่านยิ่งนัก  จึงทรงมีพระราชดำริในการปราบโรคเรื้อนให้หมดไปจากประเทศไทย   แต่อุปสรรคสำคัญในขณะนั้นคือการขาดแคลนบุคลากร  เนื่องจากสมัยนั้นยังมีความรังเกียจและกลัวโรคนี้มาก ไม่มีใครสนใจทำงาน  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงินทุนอานันทมหิดล จำนวน ๑๗๕,๐๖๔.๗๕ บาท แก่กระทรวงสาธารณสุขเป็นทุนแรกเริ่มโครงการควบคุมโรคเรื้อนในประเทศไทย  อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยโรคเรื้อนอีกด้วย
ด้วยเงินพระราชทานจึงได้มีการดำเนินการก่อสร้างตึกในบริเวณสถานพยาบาลพระประแดง  ตามโครงการรวม ๔ อาคาร  ซึ่งรวมค่าใช่จ่ายก่อสร้างทั้งหมด ๑,๒๓๙,๒๐๐ บาท  เมื่อเริ่มก่อสร้างนั้นยังไม่มีเงินเต็มจำนวน  แต่ก็ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นทีละหลังตามกำลังเงินที่มีอยู่  จากนั้น  พระบรมวงศานุวงศ์  ประชาชน  สมาคม  และชาวต่างประเทศทั้งหลาย  ต่างมีความชื่นชมยินดีในพระราชดำริ  จึงพร้อมใจกันจัดงานหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนเงินเพิ่มเติมอีกมาก  เมื่อการก่อสร้างตามโครงการได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  กระทรวงสาธารณสุขได้ขอพระราชทานนามของสถาบันแห่งนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน “ราชประชาสมาสัย”   หมายถึง “พระมหากษัตริย์และประชาชนย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน” นับเป็นความหมายลึกซึ้งบ่งบอกถึงความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่มีมาช้านาน ในที่สุดประเทศไทยก็สามารถผ่านพ้นวิกฤต   โรคเรื้อนหายไปจากประเทศไทยนับแต่นั้น
ความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนแน่นแฟ้นประดุจพ่อปกครองลูก  ดังจะเห็นได้จากการถวายฎีการ้องทุกข์โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์เป็นวัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทยที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ผู้มีความทุกข์เดือดร้อนสามารถสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ได้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้วิธีแขวนกลองไว้ที่หน้าประตูพระบรมมหาราชวัง และทรงออกประกาศระเบียบในการร้องทุกข์โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้โดยตรงต่อพระองค์   ด้วยความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามนิติราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณนี้ แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ด้วยพระบรมเดชานุภาพ   ความศรัทธา   ความเลื่อมใสในองค์พระมหากษัตริย์ที่มีพระราชจริยาวัตร ให้ความคุ้มครองปกป้องดูแลประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด เมื่อทรงใช้พระราชอำนาจในการแก้ไขวิกฤติการณ์ของประเทศ จึงเกิดสัมฤทธิผลอย่างน่ามหัศจรรย์ยิ่ง
จะเห็นได้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ตามแบบฉบับของประเทศไทย  นับเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ตกทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน  หามีชาติใดหรือเทศใดเสมอเหมือนได้  จึงไม่เกินเลยจากคำกล่าวที่ว่า “ประชาชนคนไทยโชคดี  ที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง