บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

คนไทยทุกคนควรได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

คนไทยทุกคนควรได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

โดยคนไทยกู้แผ่นดินเมื่อ 16 มีนาคม 2011 เวลา 3:39 น.
สรุปความเป็นมาที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาเส้นเขตแดน ระหว่างไทยกัมพูชา มีดังนี้

       1.หนังสือสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 13  ก.พ.  ค.ศ. 1904  ในข้อที่ 1  ได้กล่าวถึงเรื่องเขตแดนตอนหนึ่งว่า “…. ทิศเหนือขึ้นไปจนบันจบถึงภูเขาพนมดงรัก ต่อไปนั้นเขตแดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนน้ำตก น้ำเสน และดินแดนน้ำตกแม่น้ำ ของอีกฝ่ายหนึ่ง จนบันจบภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้….” ซึ่งเป็นการระบุว่าเส้นเขตแดนบนภูเขาพนมดงรักนั้นใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขต
-ในข้อ 4 และ 5 ไทยต้องยอมยกหลวงพระบางให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรีที่ฝรั่งเศสยึดเอาไว้

        2. หนังสือสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสลงวันที่ 23  มี.ค. ค.ศ. 1907  ในข้อ  1 และ 2  ไทย ยินยอมยกเมือง พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย และตราด ในข้อ 4  ให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดน ทำหน้าที่ปักปันเขตแดนทั้งปวงตามที่ได้ตกลงกันใหม่นี้
         รวมทั้งมีหนังสือสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนต่อท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ 23 มี.ค. 1907
ในข้อ 1 ได้กล่าวถึงเรื่องเขตแดนตอนหนึ่งว่า  “… จะต้องปักปัน ให้มีทางเดินตรงไประหว่างเมืองอรัญกับช่องตะโกคงไว้ในเขตกรุงสยาม  ตั้งแต่เขาแดงแรกที่กล่าวมาข้างต้น เขตแดนต่อไปตามเขาปันน้ำ ที่ตกทะเลสาป และแม่น้ำโขงฝ่ายหนึ่ง กับที่ตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วต่อไปจนตกแม่น้ำโขงใต้ปากมูล…”  ในข้อ 1 นี้ได้แนบแผนที่ ซึ่งเขียนเส้นเขตแดนประเมินเอาไว้ด้วย  ซึ่งดูจากแผนที่จะเห็นเส้นเขตแดนลากผ่านเทือกเขาพนมดงรัก แม้ไม่สามารถเห็นชัดเจนว่า ผ่านจุดใดบนเทือกเขาเพราะ แผนที่เล็กเกินไป แต่ก็สามารถนำมาประกอบกับข้อความในข้อ 1  สรุปว่า บริเวณนี้ใช้สันปันน้ำ เป็นเส้นเขตแดน
           ในข้อ 3  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “ … จะต้องทำการปักปันหมายเขตลงไว้ในพื้นที่ตามเขตแดนที่ว่าไว้ในข้อ 1 … การที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะต้องทำไม่ให้เป็นที่ล่วงล้ำเสียประโยชน์ของรัฐบาลสยาม”

              3. ในเดือน มกราคม ค.ศ. 1907  อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพได้รายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสว่า การปักปันเขตแดนของคณะกรรมการผสมในการกำหนดเขตแดน (ตั้งขึ้นในข้อ 3  ของสัญญาปี ค.ศ. 1904 ) ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนการจัดทำแผนที่  แต่ฝ่ายสยามยังไม่มีความรู้ และเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการผสมเมื่อ 29 พ.ย. ค.ศ. 1905 ฝ่ายสยามจึงขอให้ทางฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ การจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 (ต่อมาเรียกว่าแผนที่ ผนวก 1  ANNEX I map)แล้วเสร็จในปลายปี 1907  และได้ส่งมอบให้ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1908  ซึ่งรัฐบาลสยามก็ได้รับเอาไว้แม้จะมิได้มีการลงนามยินยอมรับว่าเป็นแผนที่ที่ถูกต้องแต่ก็มิได้มีการคัดค้านแต่ประการใด จึงเป็นสาเหตุที่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาด้วยเหตุผลสำคัญว่าแผนที่ 1 : 200,000 เป็นแผนที่ที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายปิดปากเพราะไทยไม่เคยทักท้วงแผนที่นี้แต่อย่างใดเลยเป็นเวลา 50 ปีมาแล้ว (แผนที่  1 : 200,000 ได้ลากอ้อมแนวสันปันน้ำของเขาพนมดงรักเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชาตามแผนที่ฉบับนี้)
หมายเหตุ การปักปันเขตแดนเสร็จใน ม.ค. 1907 แต่หนังสือสัญญาสยามกับฝรั่งเศสที่มีการแลกเปลี่ยนดินแดน ลงวันที่ 23 มี.ค. 1907  จึงคาดเดาว่าคงจะไม่ได้มีการสำรวจแก้ไขการปักปันเขตแดนเพิ่มเติมในเวลาต่อมาเพราะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับคณะทำงานการปักปันเขตเเดนอีกเลย

           4. สรุปเหตุผลในคำพิพากษาของศาลโลก (9 ต่อ 3)
                    4.1   ฝ่ายไทยมิได้ทำการทักท้วงแผนที่ 1: 200,000 มาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อได้รับแผนที่นี้มาจากฝรั่งเศส
                    4.2   ฝ่ายไทยมิได้มีการทักท้วงในเวลาต่อมาอีก  3  ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้ง ในการประชุม เพื่อทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2468  ( 1925 ) และ ปีพ.ศ.  2490  (1947) ช่วงเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1  และ 2   ครั้งที่ 3  เมื่อฝ่ายไทยทำการสำรวจบริเวณที่เป็นข้อพิพาทเมื่อ พ.ศ. 2477-2478 (1934-1935) แต่ก็ไม่ได้ทักท้วงเช่นกัน
                    4.3   ศาลมีความเห็นว่าในปี พ.ศ. 2451-2452  ( 1908-1909) ไทยได้ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000  ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน
                    4.4   ศาลมีความเห็นว่าฝ่ายไทยไม่อาจอ้างว่ามีความเข้าใจผิดโดยเชื่อว่า เส้นในแผนที่และสันปันน้ำเป็นเส้นเดียวกัน
                    4.5   ศาลมีความเห็นว่า การที่ฝ่ายไทยอ้างแผนที่แนบท้ายสัญญาไม่ถูกต้องนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างยึดประโยชน์ตามเส้นที่ลากในแผนที่แนบท้ายสัญญามาโดยตลอด
           ความคิดเห็นของผู้เขียน
          -ในสถานการณ์ขณะนั้น ไทยไม่กล้าที่จะประท้วงเพราะกลัวถูกยึดประเทศ ศาลโลกไม่ได้พิจารณาที่ต้นเหตุว่า การที่ไทยไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000  เพราะการจัดทำแผนที่ดังกล่าวนั้นไม่ตรงกับสนธิสัญญา และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการจัดทำแผนที่ แต่ศาลโลกกลับพิจารณาที่ปลายเหตุไม่ว่าแผนที่จะลากเส้นเขตแดนพิสดารอย่างไร เมื่อฝ่ายไทยไม่คัดค้านถือว่าแผนที่ถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตามปัจจุบันต้องถือว่า ประเทศไทยได้มีการคัดค้านแผนที่ 1:200,000  ไปแล้วตั้งแต่วันขึ้นศาลโลก
          -ไทยไม่ได้ยึดประโยชน์ตามเส้นที่ลากในแผ่นที่ตามศาลโลกอ้าง แต่ไทย ยึดสันปันน้ำจึงไปครอบครองปราสาทพระวิหาร

       5.สรุปข้อคิดเห็นของผู้พิพากษา 3  ประเทศ
                    5.1        อาร์เจนติน่า สารัตถะสำคัญที่ศาลควรจะตัดสินได้แก่ การตีความในข้อ 1  ของสนธิสัญญา ค.ศ.  1904  ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณากำหนดสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน
                    5.2        จีน กัมพูชาไม่สามารถพิสูจน์ลักษณะผูกผันที่มาของการลากเส้นในแผนที่  1:200,000  นี้ได้ (เหตุผลว่าทำไมจึงลากเล้นแบบนี้) สำหรับการนิ่งเฉยของประเทศไทยแล้วถือว่าเป็นการยอมรับแผนที่ดังกล่าวนั้น ฟังไม่ได้ข้อเท็จจริง และไม่มีข้อสนับสนุนทางกฎหมาย
                    5.3         ออสเตรเลีย ในความเป็นจริงเส้นเขตแดนบนทิวเขานี้ คือสันปันน้ำ การที่ไปนำเอาเส้นอีกเส้นหนึ่งมาเป็นเส้นเขตแดนโดยอ้างหลักคิด ว่าการนิ่งเฉยเป็นการยอมรับนั้น ถือเป็นหลักคิดที่ผิด

        -ปัญหาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา คงจะไม่จบลงอย่างง่ายๆ และถือว่าเป็นปัญหายิ่งใหญ่ของชาติ คนไทยทุกคนควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบคอบโดยต้องหลีกเลี่ยงแนวทางที่จะทำให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ควบคู่ไปด้วย เพราะจะทำให้เกิดปัญาอื่นๆตามมาอีกมากมาย แต่การป้องกันตัวเองของทหาร การรักษาผืนแผ่นดิน การเจรจาก็เป็นเรื่องที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
          ส่วนการที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.กต.  ได้ไปกล่าวในที่ประชุม  UNSC เมื่อ  14 ก.พ. 54 นั้นก็ยังมีจุดอ่อนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง นายกษิต น่าจะใช้โอกาสนี้กล่าวทักท้วงว่าประเทศไทยไม่ได้รุกรานและไม่ยอมรับแผนที่ 1: 200,000  เนื่องจากไม่ได้จัดทำขึ้นตามสนธิสัญญาและไม่เป็นไปตามหลักสากล  พื้นที่ซึ่งมีการสู้รบนั้นยังอยู่ในเขตแดนไทย ดังนั้นการพิจารณาปัญหาสำคัญนี้จีงไม่ควรจะอยู่แค่ นรม. และรมว.กต. สองคน และไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น จำเป็นต้องพิจารณาเป็นองค์รวมทุกเรื่อง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้

         -เรื่องMOU 43 ในข้อที่ 1 ได้กล่าวถึงการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนนั้นให้เป็นไปตามเอกสารสำคัญ 3 เรื่อง คือ  1 ) อนุสัญญา  สยาม – ฝรั่งเศส  ค.ศ. 1904  2) สนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส  ค.ศ. 1907  และ 3)  แผนที่ 1: 200,000 ถือว่า MOU ข้อนี้ สร้างปัญหาหนักขึ้นไปอีกในเมื่อ ข้อ 1) และข้อ 2)  นั้นมันขัดกับข้อ 3)  ในเรื่องการลากเส้นเขตแดนที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นจะใช้ทั้ง 3 ข้อมาจัดทำหลักเขตแดนก็ไม่ได้
         -เรื่อง MOU 43  ในข้อ 5 นั้น เป็นข้อสำคัญโดยมีเจตนาที่จะมิให้ทั้ง 2 ประเทศ เข้าไปดำเนินการใดๆในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ยังมีการละเมิดข้อตกลงนี้บ่อยครั้ง แทบจะทำให้  MOU นี้หมดความหมาย และฝ่ายไทยจะนำมาเป็นข้ออ้างยกเลิก MOU ได้ แต่ก็ต้องดูผลได้ผลเสียว่า ทั้งเลิกและไม่เลิกประเทศไทยจะได้อะไรและเสียอะไร

        ข่าวการปะทะกันของทหารไทยกับกัมพูชา บริเวณชายแดนเมื่อ 15-16 ก.พ. 54 นั้น น่าเป็นห่วงทหารไทยในแนวหน้าขวัญจะเสีย  เนื่องจาก ทหารกัมพูชาใช้ยุทธวิธีการจัดชุด ลอบเข้ามาโจมตีโฉบฉวย ต่อทหารไทยในเวลากลางคืน ขณะที่นายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ว่าทหารไทยจะทำการตอบโต้ตามความเหมาะสมนั้น แสดงว่าทหารไทยจะใช้ยุทธวิธีตั้งรับตามแนว อยู่กับที่ก็เหมือนกับเป็นเป้า คอยเวลาให้ทหารกัมพูชาโจมตีก่อนเพียงอย่างเดียว ยุทธวิธีแบบนี้ ฝรั่งเศสเคยพ่ายแพ้ต่อเวียตกงมาแล้วที่เดียนเบียนฟู
        ตราบใดที่รัฐบาลไทย ยังให้นายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเคยด่านายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างรุนแรง เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ย่อมไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
        สรุปเขมรฟ้องเรื่องปราสาทพระวิหาร ศาลโลกก็ตัดสินเฉพาะปราสาทพระวิหาร โดยพิจารณาว่าเส้นเขตเเดนของ 2 ประเทศเป็นไปตามเเผนที่ 1:200,000 ซึ่งศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตเเดน เเต่ก็เป็นข้ออ้างของกัมพูชาว่า เส้นเขตเเดนต้องเป็นไปตามเเผนที่ 1:200,000  เพราะผ่านการพิจารณาของศาลโลกมาเเล้ว ดังนั้นจึงคิดที่จะนำเรื่องเส้นเขตเเดนยื่นฟ้องต่อศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง หากเป็นจริงเชื่อว่าสุดท้ายจะไม่มีใครยอมรับคำตัดสินของศาลโลกอย่างเเน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง