บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

แฉเขมรฮุบไทยสมัย'น้าชาติ''พนิช'รับล้ำแดน

แฉเขมรฮุบไทยสมัย'น้าชาติ''พนิช'รับล้ำแดน

โดยคนไทยกู้แผ่นดินเมื่อ 11 มีนาคม 2011 เวลา 5:46 น.
พันธมิตรฯออกโรงโต้ กต.ยันพื้นที่ค่ายอพยพเป็นของไทย พร้อมจี้รัฐบาลหาต้นตอคนย้ายหลักเขตแดนทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ด้านสื่อเขมรระบุ "พนิช" รับสารภาพต่อศาล รุกล้ำดินแดนเขมรจริงแต่ไม่ตั้งใจ ขณะที่เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟเปิดปูมเขมรยึดพื้นที่ไทย ในช่วงล้างเผ่าพันธุ์เขมร  ตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชากลายเป็นค่ายผู้อพยพ "ประสงค์" เคยลงพื้นที่บ้านหนองจาน ยืนยันสระน้ำยูเอ็นตั้งอยู่ในเขตไทย หลังยุคน้าชาติเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เขมรโมเมยึดรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตแดน
          เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ (10 ม.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายเทพมนตรีลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้แถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ซึ่งได้นำมาแสดงในระหว่างการแถลงข่าวของพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
          นายปานเทพได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนที่จากเว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ (www.15thmove.net) ซึ่งจะพบว่า มีบ่อน้ำที่  UNHCR ได้ขุดเอาไว้ ซึ่งตามรายงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นายธิติพัฒน์ เสมาทอง นายกอบต. บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้รายงานว่า พื้นที่บริเวณบ่อน้ำนี้ มีแม่ยายของตนเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะฉะนั้นทำให้เราเชื่อว่า หลักเขตมีโอกาสเคลื่อนย้าย จึงนำหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายหลักเขต และเชื่อว่า 7 คนไทย จะไม่ได้อยู่ในฝั่งกัมพูชาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง
          ทั้งนี้ เมื่อนำแผนที่ L7018 มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งจุดที่คณะของนายวีระ สมความคิด 1 ใน 7 คนไทยที่ถูกจับกุม อยู่ระหว่างหลักเขตที่ 46 และ 47 โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลออกมาระบุโดยหยิบยกเส้นเขตแดนตามพิกัดที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รายงานเมื่อปี 2553 ว่าได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาไปประมาณ 55 เมตร แต่เมื่อเทียบกับพิกัดของกองกำลังบูรพา ที่อ้างถึงเมื่อปี 2549 พบว่าเส้นเขตแดนกัมพูชา อยู่ลึกเข้าไปอีก
          เมื่อเทียบกับระยะห่างที่ถูกร่นเข้าไปจะพบว่า ห่างกันประมาณ 500 เมตร แสดงว่าถ้าร่นมาจากเส้นเขตแดนของทาง ตชด.รายงาน ก็ยังอยู่ในเขตแดนที่ทางกองกำลังบูรพาได้รายงานเมื่อปี 2549 อยู่ดีส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ม.ค.เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนเพียงแค่ต้องการอธิบายรูปแบบของการวางไซต์ ที่เรียกว่า "ไซต์ทู" ซึ่งไม่ใช่ที่หนองจาน เพื่อที่จะได้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับกรณีที่วางบ่อน้ำคล้ายๆ กัน เพื่อให้เห็นว่า กินพื้นที่ดินแดนไทย
          จี้เคลียร์เรื่องย้ายหลักเขต
          นายเทพมนตรี กล่าวว่า ในแผนที่  L7018 ได้พบจุดสี่เหลี่ยมสีฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นบ่อน้ำ แล้วก็มีการรายงานว่าเป็น "บ้านเขมรอพยพ" กับ "ช่องบ้านหนองจาน" ก็แสดงให้เห็นว่า เขารายงานว่าพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นของไทยอยู่  สอดคล้องกับสภาพที่มีการอพยพกันขึ้น
          ส่วนหลักเขตที่มีการเคลื่อนย้ายไป อยากจะให้รัฐบาลไปสอบสวนว่าตกลงใครเป็นคนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่สมัยไหน อย่างไรบ้าง เพราะจะทำให้คนไทยจะเข้าไปในดินแดนดังกล่าวลำบาก เกรงว่าทหารกัมพูชาจะรวบตัวไป เพราะหลักเขตมีการย้ายไปย้ายมา ไม่มีความชัดเจนเป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวบ้านที่อยู่ตามชายแดน จึงต้องทำให้รู้โดยเร็ว
          กดดันทวงคืนปราสาทพระวิหาร
          นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้นายกฯ ทำตามที่เคยพูดในช่วงที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในวันที่24 มิ.ย. 51 กล่าวว่า ข้อสงวนสิทธิ์บนปราสาทพระวิหารที่สหประชาชาติเรายังถืออยู่ และทุกรัฐบาลก็ยังคงถืออยู่เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าหากเรามีหลักฐานใหม่ น่าจะเรียกปราสาทพระวิหารคืน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะใช้แก้เกมกับกัมพูชาได้ โดยไม่ต้องมีการปะทะ หรือที่คนเป็นห่วงว่าอาจเกิดการบาดเจ็บล้มตายของทหารที่ชายแดน
          "ฉะนั้น จุดนี้จะเป็นจุดอีกอันหนึ่งที่ถ้าเกิดนายกฯทำในนามรัฐบาลไปถึงสหประชาชาติว่า เราขอใช้ข้อสงวนที่เราเคยสงวนสิทธิ์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2505 ว่าเราไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร
          รวมทั้งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะได้แสดงข้อสงวนเอาไว้ ถ้านายกฯ ทำอย่างนั้น ผมเชื่อว่าองค์การยูเนสโกต้องฟัง เพราะเราเคยทำข้อสงวนสิทธิ์เอาไว้ที่สหประชาชาติ" นายเทพมนตรี กล่าว
          นายเทพมนตรี กล่าวต่อว่า สหประชาชาตินั้นเป็นองค์กรที่ควบคุมยูเนสโก เมื่อทำเช่นนี้ก็จะทำให้ฝ่ายกัมพูชาอ่อนท่าทีลง ตนจึงเห็นว่าเราควรที่จะลองใช้ข้อสงวนนั้นดู ว่าในท้ายที่สุดข้อสงวนที่เคยทำเอาไว้เมื่อปี2505 จะสามารถยังคงสภาพอยู่หรือไม่ ในสายตานานาชาติ ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์นี้เป็นไปจนถึงเดือนมิ.ย.54 โดยที่ตอนนั้นเราอาจจะต้องไปยอมรับสภาพเป็นหนึ่งใน 7 ชาติ ซึ่งเป็นความต้องการของยูเนสโก ซึ่งตัวทะเบียนมรดกโลก ปราสาทพระวิหาร ก็คือกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แล้วเราก็ต้องสูญเสียพื้นที่ตรงนั้นไป
          เขมรย้ายชุมชนไม่เกี่ยว MOU43
          นายเทพมนตรี ยังกล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค.นี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะนำสื่อมวลชนขึ้นไปที่ปราสาทพระวิหาร  แต่ก่อนนั้นนายกฯกล่าวว่า ฝั่งกัมพูชาได้ถอนกำลังทหารไปแล้ว แต่ตนได้รับรายงานในเบื้องต้นว่า ตอนนี้กัมพูชาก็มีอาวุธหนักอยู่ด้านบนปราสาทพระวิหาร ที่นายกฯ กล่าวว่า เพราะ MOU 2543 ทำให้ชุมชนชาวกัมพูชารวมทั้งตลาดอพยพจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของแผนบริหารจัดการที่กัมพูชาบริหารอย่างต่อเนื่อง
          ขณะนี้พิพิธภัณฑ์บริเวณบ้านโกมุย ได้ถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และย้ายชุมชนปราสาทพระวิหารไปอยู่ในชุมชนที่เป็นคอมเพลกซ์ของเขา และบริเวณที่เรียกว่าวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ ต่อไปจะเป็นศูนย์บริหารจัดการของนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น สิ่งที่นายกฯ บอกว่า MOU 2543 สามารถทำงานได้ แล้วทำให้ชาวกัมพูชาออกจากปราสาทพระวิหารนั้น ไม่เป็นความจริง เป็นขั้นตอนดำเนินงานของกัมพูชาตามแผนบริหารจัดการ เพื่อจะได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่า บริเวณนี้สงบแล้ว ได้ย้ายสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษออกจากมรดกโลก และจะเสนอแผนบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์แบบ
          อย่างไรก็ตาม นายเทพมนตรี เชื่อว่า นายสก อานรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา จะเดินทางมาที่กรุงเทพฯในเดือนก.พ.นี้ ตามที่รัฐบาลพยายามบอก เพื่อเข้าพบนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องอะไรคงต้องติดตาม แต่ตนไม่เห็นด้วยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกันเพราะจะทำให้เราถอนข้อสงวนสิทธิ์บนปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ออกไปแล้ว
          ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนในนามของกัมพูชาก็ผิดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายนพดลปัทมะ รมว.ต่างประเทศลงนามแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) และแม้จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็ถือว่ารุกล้ำดินแดนของไทย ตรงจุดนี้เราอาจจะเป็นข้อต่อสู้ในการประชุมมรดกโลกประเทศบาห์เรนได้ซึ่งข้อสวนสิทธิ์นี้ตั้งขึ้นที่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่ายูเนสโก
          ขณะเดียวกัน นักวิชาการได้แนะนำต่อรัฐบาลเสนอว่าควรที่จะทำเอกสารเป็น 5 ภาษา ตามหลักของสหประชาชาติ ในนามรัฐบาล ชี้แจงความผิดพลาดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วขอใช้ข้อสงวน เพราะเห็นแผนบริหารจัดการของกัมพูชาได้ใช้สันปันน้ำ และทำสันปันน้ำตามที่ไทยเคยต่อสู้ในศาลโลกว่าปันปราสาทพระวิหารมาอยู่ฝั่งไทย
          "พนิช" สารภาพล้ำดินแดนจริง
          ขณะที่ หนังสือพิมพ์แคมโบเดีย เดลี่ เปิดเผยการไต่สวน 7 คนไทย ที่ผ่านมาว่า ผู้พิพากษา ระบุว่าคนไทยทั้ง 7 คนยอมรับว่า ได้เข้าไปในดินแดนของกัมพูชาจริง ขณะที่ทนายความ เปิดเผยว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐให้การต่อศาลในชั้นไต่สวนว่า ได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาจริงแต่ไม่ตั้งใจ ซึ่งวันนี้จะยื่นขอประกันตัวในช่วงบ่าย โดยเงื่อนไขในการขอประกันตัว คือ จะไม่หนี รายงานตัวอย่างเคร่งครัด พักอาศัยในกัมพูชา โดยจำกัดบริเวณอยู่ในสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญเท่านั้น
          โต้ พธม.อ้างถึงค่ายลี้ภัยคนละที่
          ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ แถลงชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า จุดที่คนไทย 7 คน ถูกทหารกัมพูชาจับกุมอยู่ในดินแดนของไทย โดยมีหลักฐานเป็นหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ของUNHCR ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่า จุดที่ 7 คนไทยถูกจับกุมเป็นพื้นที่อธิปไตยของใคร ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือคนไทยทั้ง 7 ขณะนี้ยังต้องรอดูการพิจารณาคดีของศาลกัมพูชา เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะขอยื่นประกันตัวหรือจะใช้แนวทางใด
          การที่กลุ่มพันธมิตรฯอ้างว่า จุดที่ทั้ง 7 คนถูกจับตัว เป็นที่ตั้งเดียวกันกับค่ายลี้ภัยของ UNHCR แห่งที่2 นั้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นคนละจุดกัน ซึ่งจุดที่ 7 คนไทยถูกจับกุมอยู่ที่บ้านหนองจาน อ.โคกสูงจ.สระแก้ว ขณะที่จุดซึ่งพันธมิตรฯนำมาอ้าง เป็นค่ายลี้ภัยอ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้าน
          ทับทิมสยาม 2 โดยห่างจากจุดที่ 7 คนไทยถูกจับจริง 30 กม.
          อย่างไรก็ตาม ในสมัยสงครามกลางเมืองของกัมพูชาเมื่อปี 2524 เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวกัมพูชาต้องอพยพออกจากบ้านหนองจาน โดยยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้ขอพื้นที่ของไทยให้ทำเป็นค่ายผู้อพยพ เพื่อให้ชาวบ้าน
          ขอพื้นที่ของไทยให้ทำเป็นค่ายผู้อพยพ เพื่อให้ชาวบ้านย้ายมาอาศัยอยู่ในไซต์ 2 แล้วตั้งชื่อว่า เป็นบ้านหนองจานทำให้ 2 พื้นที่นี้ ชื่อเรียกเดียวกัน แต่อยู่คนละที่
          เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟเปิดปูมเขมรยึดพื้นที่ไทย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ(15thmove.net) ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จับตาดูสถานการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ "คลิป ๗ คนไทยบอกอะไร-อะไรในโนนหมากมุ่น?"ซึ่งได้ตีพิมพ์ออกเป็น 3 ตอนแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์บทความเป็นตอนที่ 4 ในหัวข้อ "ค่ายอพยพบ้านหนองจาน"
          ในบทความระบุว่า ระหว่างสงครามกลางเมืองในกัมพูชาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนปี 2518 กระทั่งปี 2542 ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นที่ตั้งของศูนย์และค่ายอพยพชาวกัมพูชาทั้งชั่วคราวและถาวร ที่เปิด-ปิด-เคลื่อนย้ายตลอดช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่งค่ายผู้อพยพแห่งสุดท้ายปิดตัวลงในปี 2542 เมื่อเขมรแดงกลุ่มสุดท้ายยุติการต่อสู้
          จากการสืบค้นข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรบรรเทาทุกข์อื่นๆพบว่าการหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาเกิดขึ้น 5 ช่วงเวลา มีค่ายผู้อพยพหลักและค่ายย่อยไม่น้อยกว่า 60 แห่งตลอดแนวชายแดนที่อยู่ในดินแดนและลึกเข้ามาในประเทศไทย ค่ายที่เป็นที่กล่าวถึงมากสุดคือ เขาอีด่างต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นการอพยพ
          ครั้งใหญ่ที่สุด ในครั้งนั้นมีบันทึกในองค์กรบรรเทาทุกข์และข้าหลวงใหญ่ฯ ถึงการพระราชทานความช่วยเหลือของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระองค์เอง
          "ประสงค์" ยืนยันเป็นพื้นที่ไทย
          ในบทความดังกล่าว น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ข้อมูลกับทางเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ระบุว่า การตั้งค่ายผู้อพยพบ้านหนองจานเกิดในช่วงรอยต่อปี 2519-2520 ขณะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดูแลผู้อพยพหนีภัยสงครามระหว่างรัฐบาลนายพล ลอน นอล กับฝ่ายเขมรแดงของนายพล พต โดยลงพื้นที่พร้อมกับพันโทสนั่น ขจรกล่ำ (ยศในขณะนั้น)
          นายทหารอื่นและผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ได้จัดพื้นที่บ้านหนองจานซึ่งอยู่ลึกเข้ามาในเขตไทยระหว่างหลักเขตที่ 46 และ 47 เป็นที่พักพิงสำหรับผู้อพยพ โดยได้ขอใช้ที่ดินของชาวบ้านคนไทย ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นและได้มีข้อตกลงกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ว่าต้องดูแลทั้งผู้อพยพชาวเขมรและ "คนของเรา" ทั้งด้านอาหารและคุ้มครองความปลอดภัย ต่อมาได้มีการจัดทำแนวลวดหนามเพื่อกันไม่ให้ชาวกัมพูชาล้ำเข้ามามากกว่าพื้นที่ที่จัดให้และไม่ให้เข้ามาปะปนกับคนไทย
          เมื่อถามถึงหลักเขต น.ต.ประสงค์ กล่าวยืนยันว่าตนเดินมาแล้วทั้งหมด ตั้งแต่หลักเขตที่ 45 ถึง 48 และยืนยันว่าบ้านหนองจานอยู่ในเขตไทย ซึ่งตรงกับอดีตนายทหารอาวุโสของกองทัพบกที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ว่าไม่มีใครตั้งค่ายในประเทศที่มีสงครามหรือคู่สงคราม และได้ให้คำยืนยันเกี่ยวกับสระน้ำยูเอ็นท้ายหมู่บ้านตรงกันว่าเป็นสระน้ำที่ยูเอ็นขุดให้และตั้งอยู่ในเขตไทย
          เขมรยึดบ้านหนองจานหลังยุค "น้าชาติ"
          ปลายปี 2522 กลุ่มเขมรเสรีซึ่งมีอิทธิพลมาแต่เดิมเข้าแทรกสอดบ้านหนองจานมีกำลังประมาณ 100 นาย เข้าปล้นคนไทยในพื้นที่หลายครั้ง กระทั่งพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ยกกำลังทหารไทยเข้าโอบล้อมหมู่บ้านขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ แคมป์ 511 ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน2523 กองกำลังทหารเวียดนามเข้าโจมตีบ้านหนองจานและโนนหมากมุ่น บังคับให้ผู้อพยพกลับไปยังกัมพูชาและฆ่าผู้ต่อต้าน กระทั่งวันถัดมาทหารไทยได้เข้ายึดพื้นที่คืนและขับไล่ทหารเวียดนามออกไป ระหว่างปี 2523-2527 ทหารเวียดนามเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพแห่งนี้หลายครั้งครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2529
          ผู้อพยพส่วนหนึ่งถูกย้ายไปยังอ่างศิลา (ไซต์ 3) ซึ่งอยู่ตอนใต้ของบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูงจ.สระแก้ว บางส่วนถูกส่งไปยังค่ายเขาอีด่าง ต.ตาพระยาอ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และค่ายสระแก้ว 2 ในปี 2531 ทิศทางของไทยสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ภายหลังรัฐบาลกัมพูชาที่มีความเข้มแข็งขึ้นได้ยึดเอาแนวรั้วที่ไทยสร้างไว้เป็นแนวเขตแดน พื้นที่บ้านหนองจาน จึงตกอยู่ในความครอบครองของชาวกัมพูชา
          อย่างไรก็ตาม น.ต.ประสงค์ได้กล่าวกับเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟว่า ประวัติศาสตร์บอกปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ระยะใกล้นี้ไม่เคยโกหก ครั้งนั้น ความช่วยเหลือเจือจุนของไทยที่ให้แหล่งพักพิงสำหรับผู้อพยพชาวกัมพูชารัฐบาลไทยได้ขอใช้พื้นที่ทำกินของคนไทยในบ้านหนองจาน วันนี้คนไทยเหยียบแผ่นดินตัวเองกลับถูกจับและส่งไปดำเนินคดีในประเทศของผู้อพยพ
          ในตอนท้ายของบทความ ได้กล่าวถึงเหตุของปัญหาการเป็นเขตอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา ความไม่สงบจากการต่อสู้ปะทะตลอดแนวชายแดน การตั้งค่ายผู้อพยพ และกิจกรรมตลาดมืดดังกล่าวข้างต้น เป็นผลสืบเนื่องเป็นลำดับมาถึงปัญหาเขตแดนที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นว่ามีการย้ายหลักเขต และเกิดสภาพ No man's Land การทับซ้อนในเชิงผลประโยชน์ทั้งระดับนโยบายและฝ่ายความมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง