หลักฐานนี้ใบ้สนิท ปานเทพ
โดยคนไทยกู้แผ่นดินเมื่อ 12 มีนาคม 2011 เวลา 0:22 น.
หลักฐานนี้ใบ้สนิท ปานเทพ
ผมได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ “คำเตือนสุดท้าย ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน” และได้เตือนเอาไว้ล่วงหน้าถึงเหตุผลในตรรกะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเรื่องที่ว่า แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสไม่มาใช้สำหรับระวางดงรัก ดังนั้นแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ใน MOU 2543จึงไม่กระทบต่อเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาบริเวณเขาพระวิหาร เป็นตรรกะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดค้นขึ้นมาในภายหลังเพื่อเยียวยาความผิดพลาดของ MOU 2543 และไม่เป็นที่ยอมรับต่อทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่เป็นที่ยอมรับกับกัมพูชา และไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติด้วย
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งให้ตรงกันว่า ที่พูดกันเสมอว่า “ศาลโลกไม่ได้พิพากษาและตัดสินแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000” นั้นเป็นความจริง เพราะศาลโลกได้พิพากษาเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2505 อย่างชัดเจนว่า
“คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช้เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ในทางตรงกันข้ามศาลเห็นว่าประเทศไทยนั้นหลังจากที่ได้แถลงข้อเรียกร้องของตนเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพระวิหารแล้ว ได้จำกัดการต่อสู้คดีตามคำแถลงสรุปของตนจนจบกระบวนพิจารณาภาควาจาอยู่แต่เพียงการโต้แย้งและปฏิเสธเพื่อลบล้างข้อต่อสู้ของคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะเลือกหาเหตุผลที่ศาลเห็นเหมาะสมซึ่งคำพิพากษาอาศัยเป็นมูลฐาน”
ข้อความข้างต้นนั้นคือข้อความสรุปสุดท้ายในการพิพากษาในคดีนี้ ซึ่ง “นักวิชาการ 7.1 ล้าน” มักจะไม่ค่อยกล่าวถึงข้อความนี้ในคำพิพากษาสุดท้ายของศาลโลก
ความหมายของคำพิพากษาท้ายสุดก็คือศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่และสถานภาพของแผนที่ในคดีปราสาทพระวิหารเพราะถือว่าไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของกัมพูชาตั้งแต่ตอนต้น แต่เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ดังนั้นด้วยคำพิพากษานี้หากไม่มี MOU 2543 กัมพูชาจะไม่สามารถนำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาใช้ได้ อย่างเด็ดขาดด้วยเหตุผลถึง 4 ประการ
1. ศาลโลกได้ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่ไม่มีบทปฏิบัติการสำหรับการพิพากษาแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ ดังนั้นกัมพูชาจึงไม่สามารถให้ศาลโลกขยายความคำพิพากษาเกินขอบเขตของคำพิพากษาได้ และประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยการล้อมรั้วปฏิบัติการเอาไว้ ซึ่งกัมพูชาก็ได้เข้าใจและยอมรับสภาพนั้นแต่โดยดีโดยไม่มีความคาดหวัง หรือ ร้องเรียนต่อศาลโลกที่จะบังคับให้ไทยต้องล้อมรั้วตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้แต่อย่างใด
2. ฝ่ายไทยเห็นว่าการตัดสินของศาลโลกไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง จึงได้ทำการประท้วงและสงวนสิทธิ์ในคำตัดสินนั้น ซึ่งการสงวนสิทธิ์แม้กระทั่งคำตัดสินเฉพาะตัวปราสาทนั้นจึงไม่มีกำหนดระยะเวลา กัมพูชาจึงย่อมเข้าใจดีว่าไม่ใช่เพียงแค่แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ไม่ได้รับการพิพากษาจากศาลโลกเท่านั้น แม้แต่ตัวปราสาทพระวิหารฝ่ายไทยก็ยังสงวนสิทธิ์ที่จะทวงคืนในอนาคตอีกด้วย
3. ฝ่ายไทยไม่ต่ออายุคำประกาศยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ซึ่งหมดอายุลงในระหว่างการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร คดีปราสาทพระวิหารจึงเป็นคดีสุดท้ายที่ฝ่ายไทยจะยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ดังนั้นกัมพูชาจึงไม่มีโอกาสที่จะขึ้นศาลโลกอีกครั้งเพื่อขยายผลไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้อีกหากฝ่ายไทยไม่ยินยอม กัมพูชาจึงย่อมตระหนักดีว่าไม่มีโอกาสที่จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 กับไทยได้อีกผ่านเวทีของศาลโลกหรือเวทีอื่นใด
4. ฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถที่จะรุกล้ำตามที่ฝ่ายไทยตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ได้ เพราะแสนยานุภาพทางการทหารไทยสูงกว่ากัมพูชามาก
MOU 2543 จึงเสมือนข้อผูกพันที่ขยายผลคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505 ที่เดิมจำกัดเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ให้ขยายผลลามไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นครั้งแรก ทั้งในเวทีการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา และในเวทีนานาชาติที่ต้องทำให้ไทยต้องเสียเปรียบอย่างชัดเจนที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น