บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

หายนะบันทึกการประชุม JBC ๓ ฉบับ

หายนะบันทึกการประชุม JBC ๓ ฉบับ
โดย Thepmontri Limpaphayom เมื่อ 22 มีนาคม 2011 เวลา 0:18 น.

ช่วยกันหยุดบันทึกรายงานการประชุม JBC  ๓ ฉบับ
ที่ทำให้ประเทศไทยของเราสูญเสียดินแดน

               ผมหวังว่าเอกสารทั้ง ๒ หน้านี้จะทำให้ประชาชนคนไทยได้ตื่นจากความฝันที่ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียดินแดนอีกแล้ว  นับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ประเทศของเราไม่เคยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่แบบนี้เลย  ในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ๓ ฉบับ หรือที่ต่อแต่นี้ไปจะเรียกอย่างสั้นๆว่า  เจบีซี ๓ ฉบับ   ผมได้ใช้เวลาในการศึกษารายงานการประชุมเจบีซีทั้ง  ๓  ฉบับแล้วพบว่า ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรากำลังจะสูญเสียดินแดนครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช   เป็นการสูญเสียดินแดนที่เกิดจากความบกพร่องและความไม่เข้าใจของนักการเมืองและรัฐบาลหลายต่อหลายรัฐบาล   ความเข้าใจที่สับสนคิดว่า   ๑. พรมแดนไทยกัมพูชายังมิได้ปักปันเขตแดนแต่ประการใด   ๒.เป็นความเข้าใจอย่างร้ายกาจที่คิดว่าแผนที่ ๑:๒๐๐๐๐๐ เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ทั้งๆที่แผนที่ชุดดังกล่าวมีความสมบูรณ์และเป็นแผนที่เก๊ทุกระวาง (คือมิได้นำแผนที่เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการผสมและประธานของทั้งสองฝ่ายมิได้ลงนามรับรอง)  หลายๆคนอาจได้ยินคำว่า MOU43 ซึ่งก็คือ  “บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก”  ซึ่งเป็น MOU ที่มิได้ผ่านรัฐสภา อันขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และมิได้ผ่านขัดตอนของการเสนอเรื่องตามลำดับขั้น โดยเฉพาะไม่ได้นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
                MOU43 `จึงเป็นบันทึกความเข้าใจฯ “เถื่อน”และใช้แผนที่ ๑:๒๐๐๐๐๐ เก๊ทุกระวาง  แต่ความดือดึงและการหวังประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องอย่างหน้ามืดตามั่วย่อมส่งผลให้ประเทศไทยต้องยอมรับเอาแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐๐๐๐  ซึ่งมีอข้อผูกพันทางกฏหมายระหว่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกเสียใหม่ทั้งๆที่ได้มีการจัดทำหลักเขตแดนเสร็จสิ้นไปแล้ว   และแน่นอนที่สุดว่าคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ก็ยอมรับเงื่อนไขของแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐๐๐๐๐  ที่จะมาประกอบการพิจารณาเช่นกัน
                  ตัว MOU43 แม้มิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก  หากแต่ MOU43 เป็นที่มาของข้อกำหนดตามแผนแม่บทอำนาจหน้าที่ ซึ่งเราเรียกว่า TOR46แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐๐๐๐๐  จึงถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในระดับปฏิบัติการภาคสนาม ซึ่งส่งผลให้เขตแดนของทั้งสองประเทศเกิดการอ้างสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย  โดยเฉพาะฝ่ายกัมพูชาได้ต้องสูญเสียดินแดนโดยพฤตินัยจากฝ่ายกัมพูชานับเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับบันทึกรายงานการประชุมทั้ง ๓ ฉบับ ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย
             ในรายงานเอกสาร เรื่องผลการประชุมคณะกรรมธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา  (Joint  Boundary   Commission-JBC )  ที่จะนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภา  เพื่อให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบบันทึกการประชุม ๓ ฉบับ  อันได้แก่
     ๑. บันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน  ๒๕๕๑
     ๒.บันทึกการประชุม JBC ครั้งที่ ๔ ที่กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒       
     ๓. บันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญที่กรุงพนมเปญ  เมื่อวันที่ ๖-๗ เมษายน ๒๕๕๒
<span>ข้อวิเคราะห์</span><span></span>
๑.ที่มาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา     เกิดจากบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ (ค.ศ.๒๐๐๐ หรือ MOU ๔๓/๒๐๐๐) ซึ่งมีความเห็นว่า ตัวบันทึกความเข้าใจฯดังกล่าว ยังไม่ผ่านขั้นตอนของรัฐสภาและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ปีพุทธศักราช ๒๕๔๐  มาตรา ๒๒๔ที่มาที่ไปของคณะกรรมาธิการฯชุดนี้จึงมิชอบ  ดังนั้นเมื่อนำบันทึกรายงานการประชุมเข้ามาพิจารณาจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย
๒.    เมื่อได้ทำการศึกษารายงานเอกสารดังกล่าวนี้โดยละเอียดแล้วพบว่า  บันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับมีเนื้อหาสาระสุ่มเสี่ยงต่อสูญเสียดินแดนโดยเฉพาะเขตพื้นที่ประกาศกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ครอบคลุมเนื้อที่บริเวณ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร  และอาจทำให้ข้อสงวนสิทธิ์ที่เคยมีมา กรณีปราสาทพระวิหารภายหลังการตัดสินของศาลโลก  (ซึ่งไทยได้ไปตั้งข้อสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกคืนตัวปราสาทหากมีการค้นพบหลักฐานหรือข้อมูลทางวิชาการใหม่)และอาจเป็นไปได้ว่าเราจะไม่สามารถเรียกคืนตัวปราสาทกลับมาเป็นของไทยได้อีกเลย  หากปล่อยให้กัมพูชาเข้ายึดครองพื้นที่แล้วนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารการจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหาร
 ๓.เฉพาะบันทึกฉบับที่ ๒และฉบับที่ ๓  ซึ่งมีการแนบ ร่างข้อตกลงชั่วคราว ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยเรื่องปัญหาชายแดนในพื้นที่ (ไทย-ปราสาท (กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์ (พระวิหารในภาษาไทย) ซึ่งในเบื้องต้นสามารถมองเห็นได้ว่า    มีการหารือเรื่องร่างข้อตกลงซึ่งถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระ “เรื่องพิจารณา” (ในภาคผนวก  ๕ หน้า ๑๐๒)  ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายไทยเห็นด้วยว่าในพื้นที่อาณาบริเวณดังกล่าวไม่ใช่เป็นของฝ่ายไทยหรือแผ่นดินไทยแต่ฝ่ายเดียว   หากแต่เป็นดินแดนที่พิพาท  (ทั้งๆที่ภายหลังคำตัดสินของศาลโลก ฝ่ายไทยยังยืนยันความเป็นเจ้าของมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในอาณาบริเวณนี้ ยกเว้นตัวปราสาทที่ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลก ส่วนพื้นที่พิพาทฝ่ายไทยยืนยันว่าคือพื้นดินที่รองรับตัวปราสาท และยังมีหลักฐานจากบทสัมภาษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และการเสด็จพระดำเนินของกษัตริย์ นโรดม สีหนุ ที่นำคณะรัฐบาลและบุคคลสำคัญชาวกัมพูชา  ประชาชนและสื่อมวลชนขึ้นมาชักธงกัมพูชาขึ้นสู่เสาในตัวปราสาทพระวิหาร)   อีกประการหนึ่งคณะกรรมการ มรดกโลกและยูเนสโกต่างเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกของ JBC และร่างข้อตกลงชั่วคราวฯดังกล่าว เพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชามีความสมบูรณ์จึงออกเป็นมติไว้ในการประชุมครั้งที่ ๓๓  ทั้งๆที่ มรดกโลกและยูเนสโกไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปักปันเขตแดนของทั้งสองประเทศ  รวมไปถึงการชักชวนให้ไทยซึ่งรู้ว่ากำลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนนี้ เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน ๑ ใน๗ ชาติเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร
            การเกริ่นนำของกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศจึงปรากฏถ้อยคำที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอันตรายคือ การแนบร่างข้อตกลงชั่วคราวฯล่าสุดไว้ในบันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ ๖-๗ เมษายน ๒๕๕๒ (หน้า ๑)   ซึ่งเป็นร่างข้อตกลงที่เป็นอันตรายและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนและอาจนำไปสู่ปัญหาที่ยุ่งยากต่อการสำรวจและตรวจสอบหลักเขตแดนที่ได้กระทำไปเรียบร้อยจบสิ้นแล้ว โดยเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหารและแนวเขตแดนจากช่องบกมาจนถึงช่องสะงำซึ่งได้ดำเนินการปักปันไปแล้วกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาภายใต้พื้นฐานสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๐๔ โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนชุดที่ ๑
        ๔. การเกริ่นนำ ของกองเขตแดนในข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นการรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมในหลายประเด็นซึ่งมีทั้งหมด ๗ ข้อ    ข้อที่น่าจะเป็นอันตรายในระดับต้นๆคือ ข้อที่ ๕.๓ , ๕.๔และ๕.๕  (หน้า ๒) กล่าวคือ ในข้อที่ ๕.๓และ๕.๔    เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องพื้นที่ที่กัมพูชาจะนำไปขึ้นทะเบียนโดยสมบูรณ์ (คือบริเวณบางส่วนระหว่างหลักเขตที่ ๑ ถึง เขาสัตตโสม)  ซึ่งโดยหลักการแล้วควรมีหลักเขตแดนให้แน่ชัดเสียก่อน โดยการไปสำรวจแนวของสันปันน้ำที่เคยปักปันไปแล้วตามสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ และรายงานการประชุมของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ชุดที่ ๑ ซึ่งถ้าฝ่ายไทยยืนยันตามหลักฐานเอกสารที่ถูกต้อง ทำไมจึงต้อง ไปเริ่มต้นกันใหม่
                       ในข้อที่ ๕.๖ เรื่องความเห็นชอบให้มีการประชุม JBC สมัยวิสามัญเพื่อหารือประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่สำรวจตอนที่ ๖ ... (หน้า ๒)  ซึ่งในแง่ของนักวิชาการ และภาคประชาชน  กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศและตัวประธาน JBC  ของไทยยังมีความเห็นแย้งกันอยู่อย่างมากและหลายประเด็น  โดยเฉพาะการตีความคำพิพากษาที่เห็นตรงกันข้าม  การอ่านบันทึกวาจา  หรือแม้แต่ทัศนคติที่เลือกข้าง  ดังเห็นได้จากการที่ประธาน JBC ฝ่ายไทยไปให้คำชี้แจงในวาระต่างๆทั้งๆที่ในคณะกรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราฎรและวุฒิสภา  โดยมีทัศนคติที่เห็นด้วยกับฝ่ายกัมพูชาและการตีความคำตัดสินของศาลโลกเข้าข้างฝ่ายกัมพูชา โดยขาดรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่อกรณีปราสาทพระวิหาร  ด้วยเหตุนี้จึงน่าที่จะนำประเด็นดังกล่าวมาร่วมกันปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางก่อนจะดำเนินการไปเจรจา

               ๕.  ในการศึกษาของกรรมาธิการฯ ยังไม่สามารถสรุปหรือลงมติใดๆได้เพราะเอกสารที่ใช้ในการประกอบการศึกษาและการตัดสินใจยังไม่เพียงพอ  เอกสารสำคัญๆเมื่อร้องขอไปแล้วยังไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ  กรมแผนที่ทหาร  ทั้งๆที่ได้มีตัวแทนเข้ามานั่งประชุมอยู่ด้วยทุกครั้ง  ถือเป็นการบังคับให้ต้องลงมติโดยปราศจากข้อมูล
               ๖. เนื้อหาในบันทึกการชุมมีเนื้อหาที่บ่งชี้ว่าฝ่ายไทยเสียเปรียบฝ่ายกัมพูชาหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการย้ายพื้นที่มาดำเนินการในพื้นที่ตอนที่ ๖ ก่อนหรือแม้กระทั่งคำปราศรัยของนายวาร์ คิม ฮอง ประธานกรรมาธิการเขตแดนฯฝ่ายกัมพูชา  ที่กล่าวว่าไทยได้ส่งกองกำลังทหารรุกล้ำเข้าไปยังดินแดนของกัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร  ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม
                ดังนั้นการการพิจารณาของรัฐสภาไทยเพื่อผ่านรายงานบันทึกการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับนี้ย่อมทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร  ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม  และถือเป็นการเริ่มต้นของการสูญเสียดินแดนครั้งใหม่ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

เทพมนตรี  ลิมปพยอม
๒๒ มีนาคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง