บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

เปิดหลักฐาน...บันทึกสู้คดีหม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ที่ศาลโลกไม่พูดถึง!?

เปิดหลักฐาน...บันทึกสู้คดีหม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ที่ศาลโลกไม่พูดถึง!?

<span>โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์</span> 15 มีนาคม 2554 17:19 น.



ในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารถ้าจะพูดถึงเหตุผลและการหักล้างกันระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ได้มีเหตุผลการต่อสู้ใน 3 ประเด็นหลักคือ
      
       ประเด็นแรก ศาลโลกยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่มาตราส่วน 1:200,000) ไม่ได้ถูกรับรองเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยามกับฝรั่งเศส โดยปรากฏข้อความในคำพิพากษาของศาลโลกในส่วนนี้ว่า:
      
       “ในระยะนี้ศาลกล่าวถึงเฉพาะข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยในประการแรกก่อน ข้อต่อสู้นี้อาศัยเหตุผลซึ่ง ศาลพิจารณาเห็นว่าถูกต้อง ที่ว่า แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการผสมชุดแรก เพราะเหตุว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้หยุดปฏิบัติงานไปเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะจัดทำแผนที่ขึ้น เอกสารหลักฐานมิได้แสดงว่าแผนที่และเส้นเขตแดนนั้นได้กระทำขึ้นโดยอาศัยคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้ให้ไว้แก่คณะกรรมการที่ได้ให้ไว้แก่คณะเจ้าหน้าที่สำรวจ ในขณะที่คณะกรรมการยังคงปฏิบัติงานอยู่... ศาลจำต้องลงความเห็นว่าในระยะแรกเริ่ม และขณะที่จัดทำแผนที่ขึ้นนั้น แผนที่ฉบับนี้ไม่มีลักษณะผูกพันใดๆ”
      
       ประเด็นที่สอง คือเรื่อง “ข้อเท็จจริง” ที่ว่าตามสนธิสัญญาและตามสภาพความเป็นจริงทางธรรมชาติสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา และหลายประเด็นเหล่านี้ไทยก็ได้หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในศาลโลก แต่ในคำพิพากษาหลักของศาลโลกไม่พิจารณาและไม่กล่าวถึงในประเด็นเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ราวกับว่าไม่เคยมีข้อโต้แย้งเหล่านี้เกิดขึ้น
      
       ประเด็นที่สาม คือ “กฎหมายปิดปาก” ที่ฝ่ายไทยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยให้น้ำหนักในประเด็นนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดเหนือกว่าเหตุผลอื่นในการยกปราสาทพระวิหารให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
      
       คำพิพากษาหลักของศาลโลกได้ข้ามหัวข้อในเรื่องของข้อเท็จจริงในประเด็นที่สองอย่างไร้เหตุผล ไม่มีการอธิบายหักล้าง หรืออธิบายเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่มีการกล่าวถึงประเด็น “ข้อเท็จจริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏในเรื่องสันปันน้ำที่แท้จริงในคำพิพากษาหลัก คงเหลือแต่กล่าวถึงในคำพิพากษาฝ่ายที่มีความเห็นแย้งพูดถึงเรื่องสันปันน้ำว่าอยู่ที่ขอบหน้าผา โดยที่ไม่มีผู้พิพากษาศาลโลกคนใดหักล้างในเรื่องข้อเท็จจริงนี้ได้เลย
      
       นี่คือเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยต้องสงวนสิทธิ์ และประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับประเทศไทย!!!
      
       คำพิพากษาของศาลโลกที่ปรากฏในการพิมพ์เผยแพร่นั้น คนไทยที่สนใจส่วนใหญ่มักจะได้อ่านคำพิพากษาของศาลโลก และความเห็นแย้งเท่านั้น แต่ไม่ค่อยจะมีใครได้มีโอกาสที่จะได้เห็นบันทึก “คำติง” ของฝ่ายไทยในหลายประเด็นที่ได้หยิบยกในการต่อสู้คดีปราสาทรพระวิหาร โดยเฉพาะในเรื่อง “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับสันปันน้ำเอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ว่าข้อมูลการต่อสู้ของคนในยุคนั้นไม่มีความแตกต่างทางวิชาการกับผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนราชดำเนินนี้แต่ประการใดเลย
      
       สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ และประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทย จะต้องยืนหยัดเนื้อหาสาระเดิมที่คนไทยได้ต่อสู้ในเวทีศาลโลกเอาไว้ให้มั่น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องประท้วงและสงวนสิทธิ์ในคำพิพากษาของศาลโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2505
      
       บันทึกคำติงของฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหารนั้นได้ยื่นเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งลงพระนามโดย หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ผู้แทนรัฐบาลไทยในขณะนั้น มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่ขอคัดมาบางประเด็นที่สำคัญซึ่งคำพิพากษาหลักของศาลโลกไม่ยอมกล่าวถึง มีดังต่อไปนี้:
      
       ประการแรก อ้างอิงใน “คำติง” ของฝ่ายไทยในหมวดที่ 2 แผนที่หมาย 1 ของกัมพูชาไม่มีผลผูกพัน หมวดย่อย (ซ) เรื่อง ถ้ากรรมการผสมได้ตกลงกันว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ข้อตกลงนั้นจะต้องเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนไว้นที่หน้าผา ปรากฏข้อ 51 ดังนี้
      
       51. รายงานของนายพันเอกมองกิเอร์ ประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการ 1907 ก็กล่าวไว้เป็นอย่างเดียวกัน (เอกสารท้ายคำติงหมายเลข 59) ในหมวด 3 ของรายงานอันยืนยาว นายพันเอกมองกิเอร์ กล่าวไว้สั้นๆ ถึงเส้นเขตแดนที่ภูเขาดงรัก ดังต่อไปนี้
      
       “จากจุดบนยอดเขาดงรักดังกล่าว เส้นเขตแดนเดินไปตามสันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำทะเลสาบกับแม่น้ำโขงทางหนึ่ง กับลุ่มน้ำมูลทางหนึ่ง ไปบรรจบแม่น้ำโขงใต้ปากมูลที่ปากห้วยเดื่อ ตามเส้นที่กรรมการชุดก่อนได้กำหนดไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 1907 สำหรับเขตปักปันที่ 5 น่าจะตกลงกำหนดเขตแดนกันได้ที่อันลองเว็งโดยไม่มีปัญหา เพราะเส้นเขตแดนเดินไปตามเส้นสันปันน้ำซึ่งอยู่ที่หน้าผาเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก” ข้อความนี้ก็อธิบายตัวเองอีกเหมือนกัน เพราะเป็นข้อความชัดแจ้งแสดงว่า ตามที่นายพันเอกมองกิเอร์ไปเห็นมา เส้นสันปันน้ำเดินไปตามหน้าผา
      
       ประการที่สอง อ้างอิงใน “คำติง” ของฝ่ายไทยในหมวดที่ 2 แผนที่หมาย 1 ของกัมพูชา ไม่มีผลผูกพัน หมวดย่อย (ช) เรื่องแผนที่หมาย 1 (แผนที่มาตราส่วน 1:200,000) ไม่ได้เขียนขึ้นตามข้อตกลงของกรรมการผสม โดยใช้เหตุผลว่า “ถ้าสันปันน้ำไม่ใช่ขอบหน้าผาต้องมีการจัดทำหลักเขตแดน” ปรากฏในเหตุผลตามข้อ 42 ความบางตอนดังนี้
      
       42. ...นายร้อยเอกอุ่ม ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางแผนที่และภูมิศาสตร์ย่อมจะรู้ดีกว่าว่าเส้นสันปันน้ำอยู่ตรงไหน อย่างน้อยกรรมการก็ต้องได้ปฏิบัติดังที่เคยทำกันมา คือจะต้องเอาหินเขตแดนไปวางไว้เป็นเครื่องหมาย (คำให้การเล่ม 2 หน้า 86 กรรมการผสมชุดที่ 2 ปฏิบัติดังนี้ 50 แห่ง ดูคำค้านเล่ม 2 หน้า 40,41) ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาโต้เถียงกันได้ว่า กรรมการได้กำหนดแนวสันปันน้ำไว้ตรงไหน กรรมการจะต้องได้ปฏิบัติดังนี้ เพราะเส้นสันปันน้ำเห็นกันไม่ได้ด้วยตาเปล่าหากไม่อยู่ที่หน้าผา กรรมการก็จะต้องทำเครื่องหมายเขตแดนอันแน่นอนไว้ เพื่อมิให้ใครมาโยกย้ายได้ในภายหลัง และถ้าตกลงกันปฏิบัติดังนั้นจริงแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่กรรมการจะไม่ได้ประชุมกันบันทึกไว้เป็นข้อสำคัญในรายงานดังที่ได้ปฏิบัติกันมา
      
       สรุปใจความคำติงข้อนี้ก็คือ หากสันปันน้ำไม่ใช่ขอบหน้าผาจะต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนวางหลักศิลาเอาไว้ เพราะถ้าไม่ใช่ขอบหน้าผาสันปันน้ำจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น อาจอยู่บนพื้นที่ราบสันปันน้ำไม่มีความเด่นชัด และสมมติว่ามีการทำหลักเขตแดนโดยการวางศิลาลงไปจริงๆ ต้องปรากฏอยู่ในรายงานประชุมทันทีเหมือนกับที่ได้ทำกันมาแล้วถึง 50 แห่ง ที่สันปันน้ำไม่ได้อยู่ขอบหน้าผา ดังนั้น กรณีที่บริเวณทิวเขาดงรัก (จากช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ถึงช่องบก จ.อุบลชาธานี) ความยาว 195 กิโลเมตร ที่ไม่มีการวางหลักศิลาหรือทำหลักเขตแดน และไม่มีรายงานการประชุมว่าจัดทำหลักเขตแดนบริเวณดังกล่าว แต่ยังสามารถมองเห็นสันปันน้ำด้วยตาเปล่าได้ ย่อมต้องหมายถึงว่า สันปันน้ำคือขอบหน้าผาได้แต่เพียงอย่างเดียว
      
       ในประเด็นเดียวกัน คำติงของฝ่ายยังได้ระบุบันทึกเอาไว้ในการต่อสู้คดี ในหมวดที่ 5 ข้อผิดพลาดในแผนที่หมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของเส้นเขตแดนสันปันน้ำบนเขาพระวิหาร ในข้อ 102 ปรากฏข้อความดังนี้
      
       102. ...“ถ้าสนธิสัญญากำหนดเส้นเขตแดนไว้ตามสันปันน้ำที่เห็นไม่ได้ กรรมการปักปันซึ่งปรารถนาจะดำเนินการให้ถูกต้องตามภูมิประเทศและทางปฏิบัติ คงจะไม่ใช้วิธีเขียนแผนที่เลื่อนเส้นสันปันน้ำไปไว้ทางเหนือโดยไม่วางศิลาไว้เป็นเขต เพราะถ้าทำดังนั้นก็จะกลับทำให้เห็นไม่ได้หนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นถ้ามีสันเขาที่เห็นได้ตั้งอยู่ใกล้ๆ เส้นสันปันน้ำที่มองไม่เห็น สิ่งเดียวที่กรรมการปักปันจะทำได้ ก็มีแต่จะเลื่อนเส้นเขตแดนไปไว้ที่สันเขา ทั้งนายพันโทแบร์นาร์ด และนายพันเอกมองกิเอร์ ก็เห็นดังนี้ รวมทั้งผู้ที่ไปดูภูมิประเทศที่ภูเขาดงรักมาก็เห็นอย่างเดียวกัน”
      
       ประการที่สาม อ้างอิงใน “คำติง” ของฝ่ายไทยในหมวดที่ 3 ข้ออ้างว่าไทยรับรองสิทธิของกัมพูชา หมวดย่อย (ก) เรื่อง แผนที่ซึ่งรัฐบาลไทยพิมพ์ออกใช้ เพื่อแสดงว่าไทยไม่ได้ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งทำผิดและไม่ได้นิ่งเฉยและมีแผนที่ของตัวเองซึ่งย่อมแสดงการปฏิเสธแผนที่ของฝรั่งเศสก่อนวันพิจารณาคดีศาลโลก ปรากฏอยู่ในข้อ 60 มีข้อความว่า:
      
       60. ตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมา การที่รัฐบาลกัมพูชานำมากล่าวไว้ในคำค้านข้อ 69 ว่า รัฐบาลไทย “ไม่ได้พิมพ์แผนที่ขึ้นแสดงอธิปไตยในทางดินแดนจนกระทั่งปี 1958 (พ.ศ. 2501)” จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความจริงเมื่อได้ทำการสำรวจเสร็จ รัฐบาลไทยก็ได้พิมพ์แผนที่ออกจำหน่ายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ปี 1935 (พ.ศ. 2478) เพื่อประโยชน์ในการพิมพ์แผนที่ขยายแสดงปราสาทพระวิหารในแผนที่มาตราส่วนที่ใหญ่กว่า ได้มีการสำรวจกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 1938 (พ.ศ. 2480) ต้นฉบับแผนที่สำรวจซึ่งได้ทำขึ้นในการสำรวจครั้งนี้ และใช้มาตราส่วน 1:5,000 ได้ส่งเข้ามาเป็นเอกสารหมายเลข 61 ท้ายคำติง แผนที่สำรวจฉบับนี้ก็เหมือนกับแผนที่สำรวจเลขที่ 81/4-48-9 ที่แสดงเส้นเขตแดนไว้ถูกต้อง และแบ่งปราสาทพระวิหารไว้ในอาณาเขตไทยต้นฉบับแผนที่สำรวจมาตราส่วน 1:5,000 นี้ได้พิมพ์จำหน่ายเป็นแผนที่เมื่อปี 1940 (พ.ศ. 2483)
      
       ประการที่สี่ อ้างอิงใน “คำติง” ของฝ่ายไทยในหมวดที่ 5 ข้อผิดพลาดในแผนที่หมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของเส้นเขตแดนสันปันน้ำบนเขาพระวิหาร ปรากฏในเหตุผลตามข้อ 109
      
       109. รายงานของศาสตราจารย์สเกมาฮอนกับดีเอไอพอจะสรุปได้ดังนี้ รายงานทั้งสองฉบับรับตรงกันในข้อสำคัญว่า แผนที่หมาย 1 (แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000) ลากเส้นสันปันน้ำผิด ว่ากันตามมาตรฐานทั้งในสมัยก่อนและปัจจุบัน สันปันน้ำตามแผนที่หมาย 1 ไม่ใช่สันปันน้ำที่มีอยู่จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ กัมพูชาจะอาศัยสนธิสัญญาและแผนที่หมาย 1 เป็นหลักฐานแสดงสิทธิได้อย่างไร
      
       นี่คือบันทึกคำติงที่มีคุณค่าให้คนในยุคปัจจุบันได้ตระหนักว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินนั้นได้ใช้เหตุผลทางวิชาการเช่นเดียวกับคนรุ่นก่อนที่มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง เพียงแต่ศาลโลกไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับประเทศไทย และใช้กฎหมายปิดปากอยู่เหนือข้อเท็จจริงทางธรรมชาติจนหมดสิ้น โดยใช้วิธีไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย
      
       ด้วยเหตุผลนี้ ไทยจึงไม่ควรยอมให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ไปจัดทำหลักเขตแดนใหม่ในบริเวณเขาพระวิหาร อันถือเป็นการสละผลงานการปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสซึ่งได้สำรวจและปักปันกันโดยให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติที่ถูกต้องและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ให้กลายเป็นว่ามาตกลงกันใหม่ให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง