บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทความโดยคุณ ศิริโชค โสภา ข้อเท็จจริงกรณี MOU 2543 เป็นคุณหรือเป็นโทษกับประเทศไทย(ทีมงาน)by Abhisit Vejjajiva on Tuesday, July 1


บทความโดยคุณ ศิริโชค โสภา ข้อเท็จจริงกรณี MOU 2543 เป็นคุณหรือเป็นโทษกับประเทศไทย(ทีมงาน)
by Abhisit Vejjajiva on Tuesday, July 13, 2010 at 11:43am

บทความโดยคุณ ศิริโชค โสภา ข้อเท็จจริงกรณี MOU 2543 เป็นคุณหรือเป็นโทษกับประเทศไทย

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง mou 2543 เป็นอย่างมาก ถึงขั้นบางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก mou 2543 มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสียดินแดน ซึ่งผมเข้าใจดีว่าเป็นการสะท้อนความรู้สึกในฐานะคนไทยที่หวงแหนแผ่นดินเกิด และรู้สึกชื่นชมนักวิชาการหลายคนที่พยายามแสวงหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบรัฐบาล เพราะทราบถึงเจตนาที่ดีต่อบ้านเมืองในการรักษาอธิปไตยของชาติ
เราไม่ได้รู้สึกแตกต่างกันครับ เพียงแต่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับรายละเอียดของ mou 2543 เท่านั้นเอง
ในฐานะที่ผมเป็น ส.ส.ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช เกี่ยวกับปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และได้ศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้โดยละเอียด จึงอยากแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อที่จะได้ให้สังคมไทยได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้พร้อม ๆ กันไปด้วย
ถ้ายังจำกันได้พรรคประชาธิปัตย์โดย นายกฯอภิสิทธิ์ มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยในสมัย สมัคร สุนทรเวช ไปยอมรับแผนที่ระวางดงรัก อัตราส่วน 1: 200,000 หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่าแผนที่ฝรั่งเศส แถมยังมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการด้วย ซึ่งในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้เวทีสภา ท้วงติง นาย นพดล ปัทมะ รมว. ต่างประเทศ ขณะที่ นาย นพดลก็พยายามแก้ตัวภายหลังว่า แผนที่ฝรั่งเศสนี้รัฐบาลประชาธิปัตย์นำมาใช้ก่อนใน บันทึก mou 2543 โดยอ้างเหตุผลเหมือนที่กำลังมีความเข้าใจผิดในขณะนี้ว่า mou 2543 รับรองแผนที่ฝรั่งเศสเพื่อนำมาใช้ในการปักปันเขตแดน
ผมเองไม่อยากให้สังคมหลงเล่ห์กลของนายนพดล ปัทมะ เพราะ mou 2543 นั้นเป็นคุณต่อประเทศ มิได้เป็นโทษต่อแผ่นดินอย่างที่หลายคนเข้าใจ ตรงกันข้ามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้กลับเป็นหลักประกันไม่ให้เราต้องเสียดินแดน ดังนั้นจึงไม่อยากให้สังคมเดินตามกระแส และหลุมพรางที่นายนพดลได้ขุดเอาไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อฟอกตัวเอง
ถ้าจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กระจ่าง ต้องไปอ่านคำพิพากษาของศาลโลก ซึ่งผมได้ถือโอกาสสรุปคร่าวๆ ไว้ ณ ที่นี้ คือ ศาลบอกว่าปราสาทพระวิหาร เป็นของเขมร แต่ศาลไม่ได้ชี้ในเรื่องของเขตแดนตามแผนที่ 1:200,000 ใน annex 1 ตามที่เขมรขอ(เพราะเขตแดนเป็นเรื่องระหว่างรัฐต่อรัฐ และต้องขึ้นกับคณะกรรมการปักหลักเขตแดนทั้งสองฝ่าย)
ปัญหาอยู่ที่แม้ว่าประเทศไทยจะปฎิเสธแผนที่ว่าฝรั่งเศสเป็นผู้ทำแต่ฝ่ายเดียว แต่ประเทศไทยกลับเอาแผนที่นั้นมาใช้และยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเขมรครอบครองปราสาทพระวิหารในอดีต โดยที่ประเทศไทยไม่เคยทัวงติง ศาลจึงอาศัยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel law) นั่นก็คือการที่ประเทศไทยยอมรับแผนที่โดยพฤตินัย อีกทั้งยังนำมาใช้ โดยไม่ยอมแย้ง หรือปฎิเสธ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของเขมรโดยปริยาย
แต่ต้องย้ำว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ศาลโลกตัดสินไป ไม่ได้ชี้ในเรื่องของเขตแดนตามแผนที่ 1:200,000 ใน annex 1 ตามที่เขมรขอ
ความเข้าใจที่ว่าศาลโลกได้ยอมรับแผนที่ฝรั่งเศสตามคำร้องขอของเขมรจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในคำพิพากษาของศาลโลกมีการลำดับเหตุการณ์ในเรื่องของการปักปันเขตแดน ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีน ซึ่งมีอยู่สองชุด ชุดแรกตามอนุสัญญาฉบับปี 1904 และชุดที่สองตามสนธิสัญญาฉบับปี 1907 ซึ่งผมจะขอไม่พูดเกี่ยวกับชุดที่สอง เนื่องจากไม่เกี่ยวกับบริเวณปราสาทพระวิหาร
ก่อนที่จะไปดูเรื่องการปักปันเขตแดนผมขออธิบายคร่าวๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ ในเรื่องของการแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศ เพื่อมิให้เกิดความสับสนในศัพท์ที่ใช้ ปักปันเขตแดน(delimitatiion) และปักหลักเขตแดน (demarcation)
การปักปันเขตแดน (delimitation) คือการเดินสำรวจและ ปักปันเขตแดน เพื่อนำมาลงในแผนที่
การปักหลักเขตแดน (demarcation)คือเมื่อขบวนการปักปันเสร็จ ลงในแผนที่เรียบร้อย ก็จะมีการปักหลักเขตแดน เพื่อลงหมุดเขตแดน
คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีน ปักปันเขตแดน และผลิตแผนที่มา 11 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือระวางดงรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร แต่ปัญหาก็คือว่า ช่วงที่ปักปันเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นนั้น ได้มีการนัดคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีนเพื่ออนุมัติตามที่เจ้าหน้าที่ได้ปักปันไว้ในวันที 8 มีนาคม 1907 แต่เนื่องจากในช่วงนั้นทั้งสองประเทศหมกมุ่นอยู่กับการเตรียมลงนามสนธิสัญญาปี 1907 ซึ่งจะมีในช่วงปลายเดือน เลยทำให้การประชุมเพื่ออนุมัติการปักปันเขตแดนดังกล่าวไม่เกิดขึ้น
ศาลโลกจึงวิเคราะห์ว่า The Court must nevertheless conclude that, in its inception, and at the moment of its production, it had no binding character. แปลความว่า แผนที่ 1:200,000 ใน annex1 บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ไม่ถือว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีน
ซึ่งก็เท่ากับว่า ศาลโลกไม่ยอมรับแผนที่ฝรั่งเศสนั่นเอง
ทีนี้ลองมาดูบันทึก mou 2543 กันว่ามีประเด็นสำคัญอย่างไร
(ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน...............

พอจะนึกภาพออกใช่ไหมครับว่า เมื่อ mou 2543 ระบุว่าจะยอมรับเฉพาะแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานของการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ก็เท่ากับว่าแผนที่ฝรั่งเศสระวางดงรักที่ศาลโลกวินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน จะไม่ถูกนำมาใช้พิจารณาในการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ถามต่อไปว่า เมื่อแผนที่ 1:200,0000 ใน annex 1 ไม่เป็นผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามอินโดจีนตามที่ศาลโลกได้วินิจฉัยไว้แล้ว ทำไมจึงต้องระบุแผนที่ 1:200,000 ไว้ใน mou 2543
คำตอบก็คือ แผนที่ 1:200,000 ที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ตามอนุสัญญา 1904 ไม่ได้มีฉบับเดียว แต่มีทั้งหมด 11 ฉบับ 3 ฉบับถูกยกเลิกไปแล้วโดยสนธิสัญญา 1907 และอีกฉบับ คือ ระวางดงรัก (บริเวณปราสาทพระวิหาร) ศาลโลกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการฯ
ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงแผนที่ฝรั่งเศสจะคิดถึงแต่ฉบับระวางดงรักไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงในปัจจุบันต้องถือว่ามีทั้งหมด 7 ฉบับ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมใน mou 2543 จึงใช้คำว่า maps which are the results……. หมายถึงแผนที่เติม (s) ถ้าใช้ภาษาแบบบ้านๆ ก็คือแผนที่หลายฉบับที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน แต่เวลาแปลมาเป็นภาษาไทยซึ่งไม่มี s ต่อท้าย ก็ใช้คำว่า แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ทำให้คนเข้าใจว่า หมายถึง แผนที่ 1:200,000 บริเวณ ปราสาทพระวิหาร ใน annex 1 เท่านั้น แต่ในความจริง ตรงกันข้ามครับ หมายถึงแผนที่ 1:200,000 ทุกฉบับ ยกเว้น แผนที่ 1:200,000 บริเวณ ปราสาทพระวิหาร ใน annex 1 เพราะฉบับนั้นถือว่าไม่เป็นผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีน
มาถึงตรงนี้คิดว่าหลายท่านคงพอจะเข้าใจมากขึ้นแล้ว ผมอยากเรียนต่อไปว่า mou 2543 นั้นมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาเขตแดน (บนบก) ระหว่างไทยกับเขมร ไม่ใช่เฉพาะในส่วนปราสาทพระวิหารเท่านั้น และเขตแดนในส่วนแผนที่ 1:200,000 ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ในอีกๆหลายๆฉบับนั้นประเทศไทยก็ได้เปรียบเขมร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีบรรดาแผนที่เหล่านี้แนบท้าย mou 2543
ถ้าเราตั้งสติ และวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงที่ผมได้กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเทศเขมรต่างหากที่เสียเปรียบเราใน mou 2543 เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่าการปักหลักเขตแดนนั้นจะใช้เฉพาะแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนเท่านั้น ดังนั้นแผนที่ 1:200,000 ฉบับ annex 1 ของเขมร นั้นจึงถูกตัดออกจากสารบบ โดยที่เขมรรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จะไม่เกิดปัญหาเลยถ้ารัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร และต่อมารัฐบาลสมชาย ไม่ไปยอมรับแผนที่ฉบับนี้ ในบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ต่างกรรม ต่างวาระ หลายครั้ง ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะลำบากและยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเขมรยกเรื่องกฎหมายปิดปากมาใช้อีกรอบ
นายกฯอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านขณะนั้น ลุกขึ้นมาท้วงติงในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีปราสาทพระวิหาร ว่าการกระทำของรัฐบาลอาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนได้ แตกต่างกับกรณี mou 2543 ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเราไม่รับแผนที่ 1:200,000 ของเขมร
เป็นจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่สถานะจะเปลี่ยนไปอย่างไร นายกฯอภิสิทธิ์ ยังคงเดินหน้ารักษาอธิปไตยของชาติ เช่นเดียวกับในสมัยที่เป็นฝ่ายค้าน โดยทุกย่างก้าวซึ่งมีผลต่ออาณาเขตประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ บนหลักคิดรักษาสิทธิของประเทศควบคู่ไปกับการประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายจนถึงขั้นทำสงครามระหว่างกัน ซึ่งรังแต่จะสร้างความสูญเสียไม่รู้จบ
ข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกฯอภิสิทธิ์ ไม่มีทางยอมให้ดินแดนไทยถูกแบ่งแยกไปเป็นของต่างชาติ คือ การคัดค้านการขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างเข้มแข็ง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชาไม่พอใจและเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่ความเสื่อมทรามทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
เป็นบทพิสูจน์ว่า เมื่อถึงจุดที่จำเป็นต้องเลือก นายกฯอภิสิทธิ์ ก็เลือกที่จะรักษาอธิปไตยของชาติที่คนไทยทั้งประเทศหวงแหน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็ตาม และในขณะนี้รัฐบาลก็ยังเดินหน้าตามแนวทางนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
การคัดค้านการขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทย ส่งผลให้จนถึงขณะนี้การขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะกัมพูชาไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารได้ตามกติกาที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด แต่ภารกิจของรัฐบาลยังไม่จบ เรายังต้องต่อสู้ในเวทีคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ และผมให้ความมั่นใจต่อพี่น้องชาวไทยได้ว่า รัฐบาลจะดำเนินการเต็มที่เพื่อรักษาสิทธิของประเทศไทย ไม่ให้ใครมาละเมิดอธิปไตยของเราได้
นายกฯอภิสิทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ที่จะทำให้เกิดข้อครหาได้ว่า นำผลประโยชน์ชาติไปแลกผลประโยชน์ส่วนตัว เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ตรงกันข้ามท่านได้ดำเนินการทุกอย่างบนหลักคิดรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมมาโดยตลอด
ผมคงมิอาจไปบังคับให้ทุกคนเชื่อผม เพียงแต่อยากให้เปิดใจกว้างรับฟังข้อมูลในทุกมิติอย่างมีเหตุผล แล้วจะได้คำตอบว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ได้แตกต่างไปจาก อภิสิทธิ์ ในวันนี้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง